FTA‘ไทย-ชิลี’มีผลบังคับใช้5พ.ย.นี้
เชื่อเพิ่มมูลค่าการค้าอีกเท่าตัว
ธุรกิจบริการเปิดลงทุน100%
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ชิลี จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งในวันแรกที่มีผลบังคับใช้ สินค้าไทยและชิลีจำนวน 90% ของสินค้าทั้งหมด จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันที ส่วนสินค้าที่เหลืออีก 10% จะทยอยลดภาษีให้เป็น 0% ภายใน 8 ปีซึ่งการทำ FTA ดังกล่าว จะเป็นการช่วยส่งเสริมและขยายมูลค่าระหว่าง 2 ประเทศให้เพิ่มขึ้น จากในปี 2557 มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายอยู่ที่ประมาณ 960 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของมูลค่าการค้าของไทยกับภูมิภาคอเมริกาใต้ทั้งหมด รองจากบราซิล และอาร์เจนตินา และในอนาคตมูลค่าการค้า 2 ประเทศน่าจะขยายได้อีกเท่าตัว
นอกจากนี้ยังจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปขยายตลาดในภูมิภาคอเมริกาใต้มากขึ้น เพราะความตกลง FTA ไทย-ชิลี ครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และยังมีความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ เช่น พิธีการศุลกากร การอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ส่วนการเปิดเสรีด้านการลงทุน ได้กำหนดให้มีการเจรจาภายใน 2 ปี นับจากความตกลงมีผลใช้บังคับ
สำหรับสินค้าที่ชิลีให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรกับไทยมีจำนวน 7,855 รายการ ซึ่งจะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ทันที 7,129 รายการ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เช่น รถยนต์และยานยนต์ชนิดต่างๆ ปลาทูน่ากระป๋อง ลิฟต์ เม็ดพลาสติกจำพวกโพลิเอทิลีน เครื่องซักผ้า วัสดุก่อสร้าง และสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น และจะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใน 3 ปี หรือเริ่มตั้งแต่ปี 2561 อีกจำนวน 296 รายการ จะมีการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใน 5 ปี หรือเริ่มตั้งแต่ปี 2563 อีกจำนวน 283 รายการ และในส่วนของสินค้าอ่อนไหวจำนวน 147 รายการ จะลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใน 8 ปี หรือเริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
ในขณะที่ข้าว ชิลีจะทยอยลดภาษีเป็น 0% ให้ไทยภายใน 5 ปี จะเป็นแต้มต่อในการแข่งขันข้าวไทยได้ ทำให้ไทยเปิดตลาดข้าวในชิลีได้เพิ่มขึ้น เพราะถือว่าชิลีได้เปิดตลาดข้าวให้กับไทยมากกว่าที่ชิลีทำ FTA กับเวียดนามและจีน ส่วนสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษี เช่น ทองแดง สินแร่เหล็ก ที่ไทยมีความต้องการนำเข้าเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งลดภาษีไวน์ 9 รายการ ในระดับเดียวกับที่ไทยได้เปิดตลาดให้ออสเตรเลีย
ทั้งนี้ในการเปิดตลาดภาคบริการ ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่ชิลีเปิดตลาด โดยอนุญาตให้คนไทยเข้าไปลงทุนเกือบทุกสาขาบริการได้ถึง 100% โดยเปิดตลาดเพิ่มเติมให้ไทยมากกว่าในกรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ได้แก่ บริการด้านกฎหมาย บริการให้คำปรึกษาด้านการออกแบบ วิศวกรรม บริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการค้าส่ง ค้าปลีก บริการเกี่ยวเนื่องภาคการผลิต
และที่สำคัญ ชิลีได้อนุญาตให้บริการนวดแผนไทย และบริการกีฬา นันทนาการ รวมถึงมวยไทย ไปประกอบธุรกิจในชิลีได้ ซึ่งจะทำให้บริการเหล่านี้ของไทยเจาะเข้าสู่ตลาดชิลีได้เพิ่มมากขึ้น เพราะบริการของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก
นอกจากนี้ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อทำ FTA กับปากีสถาน และตุรกี อีกทั้งรัสเซีย ในนามยูเรเซีย ก็ได้แสดงความสนใจจะทำ FTA กับไทย โดยไทยขอเวลาในการศึกษาข้อมูลก่อน ทั้งนี้ไทยมีแผนไปเยือนหลายประเทศ เพื่อขยายตลาดผลักดันการส่งออก เช่น อิหร่าน ศรีลังกา รวมถึงญี่ปุ่นที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจของไทย นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำคณะเดินทางไป สำหรับแผนกระตุ้นการส่งออกปี 2559 คาดว่าจะมีความชัดเจนประมาณปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นดือนธันวาคม 2558 นี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี