สัปดาห์ก่อนเราทราบถึงสาเหตุของการคันกันไปแล้ว สัปดาห์นี้เรามารู้ว่าเราควรเตรียมข้อมูลอะไรให้สัตวแพทย์เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยและรักษามีประสิทธิภาพที่สุดกันครับ
● เจ้าของสัตว์ควรเตรียมข้อมูลอะไรให้สัตวแพทย์ทราบบ้าง
สิ่งที่มีความจำเป็นที่เจ้าของต้องเตรียมเพื่อเป็นข้อมูลแก่สัตวแพทย์ ได้แก่ สุนัขเริ่มมีอาการคันตั้งแต่เมื่อไหร่? เริ่มคันต่อเนื่องนานแค่ไหน? คันบริเวณส่วนใดของร่างกาย? พ่อ-แม่หรือพี่น้องครอกเดียวกันนี้มีปัญหาผิวหนังแบบเดียวกันหรือไม่? ตัวอื่นในบ้านที่ไม่ใช่ญาติพี่น้องมีอาการเหมือนกันหรือไม่? สัตว์อื่นนอกบ้านมีปัญหานี้หรือไม่? รวมถึงสัตว์เลี้ยงของเราเคยไปสัมผัสสัตว์เหล่านั้นหรือไม่? สุนัขเคยได้รับการตรวจหรือรักษามาก่อนหรือไม่? เคยรักษามาแล้วตั้งแต่เมื่อไหร่? ผลการรักษาเป็นอย่างไร? ตอบสนองหรือไม่ อย่างไร?
● การตรวจวินิจฉัยทำได้อย่างไร
การตรวจวินิจฉัย จะทำเพื่อหา “สาเหตุ” ของการคันที่แท้จริง ซึ่งมีหลายวิธี เริ่มตั้งแต่ “การสังเกตที่ตัวสัตว์” ว่าผิวหนังมีความผิดปกติที่ตำแหน่งใด พบพยาธิภายนอก เช่น เห็บ หมัด เหา หรือไม่ จากนั้นอาจทำการ “ขูดตรวจผิวหนัง” เพื่อตรวจหาไรขี้เรื้อน หรือ “การเก็บตัวอย่างสะเก็ดผิวหนัง” จากบริเวณที่มีรอยโรค เพื่อนำไปย้อมสีเพื่อตรวจทางเซลล์วิทยา หาแบคทีเรีย ยีสต์ หรือทำการเพาะเชื้อรา รวมถึงอาจทำการ “ทดสอบการแพ้อาหาร” และ “การทดสอบการภูมิแพ้ทางผิวหนัง” (allergy skin test) เป็นต้น
● การรักษาทำอย่างไร
การรักษาทางยา มักจะรักษาที่สาเหตุ และรักษาตามอาการ โดยจะมีในรูปของยากิน ยาทา ยาแช่ตัว และแชมพูยา ซึ่งตัวยาหลักๆ ที่ใช้ คือ
- กลุ่มยาลดอาการคัน ได้แก่ ยาแก้แพ้ (antihistamine) และกลุ่มสเตียรอยด์ (ซึ่งเป็นยาอันตรายและมีผลข้างเคียงสูงมาก ต้องใช้ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์) เพื่อบรรเทาอาการคัน แต่ที่สำคัญต้องหาสาเหตุที่แท้จริง ที่ทำให้สุนัขคัน และใช้ยาให้ตรงจุด
เช่น หากพบว่าเกิดจากพยาธิภายนอก เช่น หมัด และการแพ้น้ำลายหมัด รวมถึงไรขี้เรื้อน ก็จะให้ยาฆ่าปรสิตภายนอก
- ยาปฏิชีวนะ หากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ยาฆ่าเชื้อราและยีสต์ หากพบเชื้อยิสต์และรา
หากมีการแพ้อาหาร ก็ใช้การเปลี่ยนชนิดอาหาร ส่วนกรณีที่แพ้สิ่งแวดล้อม เช่น แพ้ฝุ่น ละอองเกสร หรือผงปูน การแก้ไขที่ดีที่สุดคือต้องพยายาม “หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดการแพ้” นั้น แต่ส่วนใหญ่มักจะทำไม่ได้ สัตวแพทย์จึงต้องให้การควบคุมโดยการใช้ยา
โดยหลักการแล้ว สัตวแพทย์จะพยายามใช้ยาในปริมาณที่น้อยที่สุดแต่ต้องสามารถควบคุมอาการคันได้ผล ซึ่งจะมีความแตกต่าง
กันในสัตว์แต่ละตัว นอกจากนี้ การใช้แชมพูยาเพื่อประกอบการรักษา ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น
● ระยะเวลาในการรักษานานแค่ไหน
โดยทั่วไปแล้ว การรักษาโรคผิวหนังจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ประมาณตั้งแต่ 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับอาการ สาเหตุ และการตอบสนองต่อการรักษา ดังนั้นเจ้าของสัตว์ต้องเตรียมใจไว้เลยว่า ต้องใช้เวลาในการรักษานานพอสมควร ต้องอาศัยความสม่ำเสมอและวินัยในการให้ยา ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาทา หรือยาอาบด้วยครับ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร. ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี