แนวโน้มการใช้ “อินเตอร์เนต” ในประเทศไทย นับวันจะ “ประชิดตัว” ผู้บริโภค มากขึ้น เพราะใน “ยุคสังคมก้มหน้า” ดูเหมือนผู้คนในสังคมจะ “คอนเนค” หรือ “เชื่อมต่อออนไลน์” ทุกที่ทุกเวลา ทำให้แนวโน้มการใช้งานอินเตอร์เนตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพลล์” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,749 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง“พฤติกรรมการใช้อินเตอร์เนต” ทำการสำรวจช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบจากการใช้อินเตอร์เนต พบว่า ร้อยละ 57.68 ระบุว่า ระบบเครือข่าย/สัญญาณอินเตอร์เนตช้า
รองลงมา ร้อยละ 44.15 ระบุว่า ระบบเครือข่าย/สัญญาณอินเตอร์เนตไม่เสถียร หลุดบ่อย, ร้อยละ 18.07 ระบุว่า ระบบเครือข่าย/สัญญาณอินเตอร์เนต ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่, ร้อยละ 7.73 ระบุว่า ค่าอินเตอร์เนตมีราคาแพง ไม่สมเหตุสมผล มีเพียง ร้อยละ 18.65 ที่ระบุว่าไม่พบปัญหาใดๆ
ผลสำรวจบ่งชี้ให้เห็นว่าระบบ “โครงข่าย” การให้บริการอินเตอร์เนตของประเทศ ยังต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งการให้บริการอินเตอร์เนตแบบไร้สายยังมีการจราจร หรือ “ทราฟฟิก” การใช้งานที่หนาแน่น รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกทั้งคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรไปแล้วก็ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้งานของผู้บริโภคที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้
นอกจากนี้ “ความจุ” ของบริการอินเตอร์เนตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มขยับขยายไม่ได้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “ค่ายมือถือ” ต้องมองหา “ช่องทางทำกิน” อื่นๆ ซึ่ง “เนตบ้าน” ผ่านเทคโนโลยีแบบใหม่สายเคเบิลใยแก้วออพติก หรือ “FTTx” ที่ว่ากันว่ามีมูลค่าทางการตลาดมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท กลายเป็น “เค้ก” ก้อนใหม่ที่ค่ายมือถือกำลังเปิด “สมรภูมิรบ”
“รังสรรค์ จันทร์นฤกุล” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการตลาดและเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าบรอดแบนด์ของ ทีโอที มีจำนวน 1.5-1.6 ล้านราย แบ่งเป็น กลุ่มลูกค้าอินเตอร์เนตความเร็วสูง หรือ ADSL ในสัดส่วน 85% หรือประมาณ 1.4 ล้านราย และลูกค้า FTTx ในสัดส่วน 15% จำนวนประมาณ 2 แสนราย โดยกลุ่มลูกค้าที่ชะลอตัวลง คือ ADSL เพราะความต้องการใช้งานมีลดลง
“เวลานี้ลูกค้าหันมาใช้บริการ FTTx มากขึ้น ปีนี้บริษัทจึงมุ่งขยายตลาดดังกล่าว รวมถึงรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้
ให้มากที่สุด” รังสรรค์ กล่าว
“หมัดเด็ด” ที่ ทีโอที หวังใช้เป็น “หมัดน็อก” คู่แข่งในตลาด FTTx คือ โปรโมชั่น “คุ้มยกแพ็ก”…
“รังสรรค์” ระบุว่า โปรโมชั่นดังกล่าวมีราคา 599 บาทต่อเดือน ใช้งานอินเตอร์เนตความเร็วดาวน์โหลด 10MB และอัพโหลด 1Mb พร้อมแถมบริการโทรศัพท์บ้านวงเงิน 599 บาทต่อเดือน กรณีใช้โทรศัพท์บ้านโทร.ไปโทรศัพท์บ้าน ส่วนเกินวงเงิน โทร.ท้องถิ่นครั้งละ 2 บาท โทร.ทางไกลในอัตรานาทีละ 2 บาท และรับชมทีวีผ่านกล่องรับสัญญาณอินเตอร์เนต หรือ “ไอพีทีวี” ได้ด้วย
หันมาดูทาง “เอไอเอส” ซึ่งไม่ยอมน้อยหน้า และพร้อมลุยในตลาด FTTx เช่นกัน...
“ปรัธนา ลีลพนัง” รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า แนวโน้มการให้บริการบรอดแบนด์ ในช่วงนี้ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ ADSL ไปสู่เทคโนโลยี FTTx เหมือนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเทคโนโลยีระบบ 2G ไปสู่ระบบ 3G และ 4G ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดรุนแรงมากขึ้น
“เมื่อเทรนด์เปลี่ยนไป คู่แข่งในตลาด FTTx ก็ตื่นตัวมากขึ้น จากที่เนตบ้านถือเป็นสิ่งที่ทุกบ้านต้องมี แต่เมื่อการคอนเนคชั่นทั้งในและนอกบ้านเริ่มมีความจำเป็น เอไอเอส จึงลงทุนด้านไฟเบอร์ออพติก และเข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด โดยการแข่งขันด้านราคาไม่น่าจะรุนแรง เท่ากับการแข่งขันเรื่องความเร็ว” ปรัธนา กล่าว
“โปรโมชั่น” ที่ เอไอเอส ปล่อยออกมาสู้กับคู่แข่ง คือ เปิดบริการ AIS Fiber มีบริการแพ็กเกจ 2 กลุ่ม คือ บ้าน และคอนโดมิเนียม แบ่งเป็น Home Package 15/5 Mbps(ดาวน์โหลด/อัพโหลด) ราคา 590 บาท ความเร็วสูงสุด 20/7 Mbps ราคา 750 บาท และ 30/10 Mbps ราคา 1,190 บาท “ฟรี” ค่าติดตั้ง AIS Fiber มูลค่า 4,000 บาท พร้อม Wi-Fi Router, ฟรี ค่าเปิดใช้บริการ AIS PLAYBOX มูลค่า 2,500 บาท
ด้าน “มนัสส์ มานะวุฒิเวช” หัวหน้าสายงานการพาณิชย์และพัฒนาธุรกิจ ทรูออนไลน์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู” มีแผนการลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เนต FTTx มูลค่า 33,000 ล้านบาท ซึ่งการขยายโครงข่ายดังกล่าวจะขยายการเข้าถึงจาก 6 ล้านครัวเรือน เป็น 10 ล้านครัวเรือน ในปี 2559
สำหรับ “แพ็กเกจ” ของทรูออนไลน์ คือ เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ปรับสปีดบริการอินเตอร์เนตบรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ให้รองรับความเร็วสูงสุด 10 Gbps ทั้งบนเทคโนโลยี FTTH, FTTB และ DOCSIS พร้อมทั้งมีบริการใหม่ “ทรู ซูเปอร์ สปีด ไฟเบอร์ 30 เมก” (TRUE Super Speed FIBER) ที่มากับแพ็กเกจ 30 Mbps คือ ใช้อินเตอร์เนตความเร็ว 30 Mbps นาน 12 เดือน 799 บาทต่อเดือน รับบริการทรูมูฟเอช 199 บาท และดูทรูวิชั่นส์ ช่องดิจิทัลทีวี และ 3 ช่อง HD รวม 101 ช่อง เป็นต้น และสิทธิพิเศษอื่นๆ
“แพ็กเกจ” ที่ค่ายมือถือคลอดออกมา ถ้ามองในแง่ราคาถือว่าดูดี แต่เรื่องประสิทธิภาพ คงต้องรอการพิสูจน์ ซึ่ง กสทช.มองว่าเมื่อผู้ใช้มาก การบริการมาก จะหวังให้ดีได้ทั้งหมดคง “ยาก” !!!
“นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้งานอินเตอร์เนตบ้านโดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญเรื่อง “คุณภาพ” การให้บริการมากกว่า “ราคา” เนื่องจากเป็นการใช้บริการเฉพาะ โดยเฉพาะการดาวน์โหลดต่างๆ ซึ่งหากมีการ “หลุด” บ่อย จะทำให้การอัพโหลด-ดาวน์โหลด สะดุดลง ปัญหาหลักๆของการใช้บริการด้านผู้บริโภค คือ 1.ความต้องการความจุ หรือ “แบนด์วิธ” ที่พอเพียงต่อความต้องการใช้งาน และ 2.ค่ายมือถือมีแบนด์วิธจำนวนจำกัด
“ต่อให้มีการประมูลคลื่นความถี่เกิดขึ้น ความสามารถรองรับการใช้งานยังไม่เพียงต่อความต้องการของผู้บริโภค
ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะใช้งานบนคลื่นความถี่เดิม ซึ่งไม่ได้ช่วยให้คุณภาพอินเตอร์เนตดีขึ้นเท่าที่ควร” นพ.ประวิทย์ กล่าว
ที่สุดแล้ว “แพ็กเกจ” ที่ค่ายมือถือคลอดออกมาจะ “เร็ว-แรง” สมกับที่โปรโมทหรือไม่ คงต้องจับตาดูต่อไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดแม้ราคาจะดูดี แต่ถ้า “ต่อไม่ติด...คลิกแล้วหลุด” ผู้ใช้คงส่ายหน้า ทำให้ผู้ให้บริการที่ “แรง” ไม่ถึง มีสิทธิ์ “หลุด” วงโคจรเอาง่ายๆ เพราะสมรภูมินี้ดูแล้วใคร “พลาด” ไม่ได้จริงๆ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี