หลายท่านคงได้ยินคำว่า “ประเทศไทย 4.0” หรือโมเดลการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม กันมาสักระยะแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2558 ในเรื่องนี้รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม รวมไปถึงการสร้างความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ ด้วยการเปิดเผยขั้นตอนการทำงานของทุกหน่วยงาน เช่น เว็บไซต์ data.go.th และเว็บไซต์ ภาษีไปไหน โดยเคยมุ่งหวังตั้งเป้าให้ปี 2018 ที่ผ่านมา คือปีแห่งชุดข้อมูลภาครัฐ (Year of Data) ที่รองนายกรัฐมนตรีได้เคยกล่าวไว้ในงาน Digital Government Summit 2017
นอกจากฝั่งรัฐบาลจะมีความมุ่งหวังพัฒนาให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารประเทศแล้ว ฝั่งภาคประชาสังคมเองก็ร่วมพัฒนานวัตกรรม และโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนให้สามารถร่วมตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้ด้วย ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสร้างประชาชนตื่นรู้ (Active Citizen) พัฒนาระบบการส่งเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชันจากทั่วประเทศ จากเดิมเราต้องใช้เวลานาน แถมยังเสี่ยงกับความปลอดภัยของผู้ส่งเบาะแสด้วย ปัจจุบันมีทั้ง
ช่องทางของ facebook page ต้องแฉ Must share ที่ช่วยเชื่อมโยงประชาชนกับสื่อสืบสวนสอบสวนมืออาชีพโดยประชาชนที่พบเจอปัญหาหรือประเด็นที่อาจจะส่อให้เกิดการทุจริตในภาครัฐ ส่งข้อมูลให้ทีมงานต้องแฉ เมื่อทีมงานได้รับข้อมูลแล้วจะนำข้อมูลดังกล่าวมาหาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านเพจต้องแฉ โดยอาศัยพื้นที่ออนไลน์เชื่อมโยงคนที่เกี่ยวข้องและมีข้อมูล ความรู้ต่างๆ เข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด และ facebook page ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านที่มีทีมปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านร่วมทำงานอยู่ทั่วประเทศช่วยหาหลักฐานสนับสนุนข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้จริง โดยมีการจัดอบรมเพิ่มความรู้ให้กับประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยการเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังให้กับประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นการเพิ่มจำนวนทีมปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านมาร่วมทำงานผ่านพื้นที่ออนไลน์เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม เพียงช่องทางการแจ้งเบาะแสอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะการเป็นประชาชนตื่นรู้ได้นั้นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ด้วย จึงจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลการทำงานของภาครัฐและนำมาประมวลผลได้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จึงได้สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า ACT Ai ที่เชื่อมโยงข้อมูลการทำงานของภาครัฐใน 3 ส่วนได้แก่ 1) การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยกรมบัญชีกลาง 2) ข้อมูลความเชื่อมโยงของธุรกิจต่างๆ จากกรมการค้า และ 3) ติดตามความคืบหน้ากรณีการทุจริตต่างๆ จาก ป.ป.ช. โดยระบบนี้สามารถให้ประชาชนใช้ได้ง่าย และอัจฉริยะพอที่จะประมวลผล วิเคราะห์ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ด้วย โดยคาดการณ์ว่าระบบ ACT Ai ที่สมบูรณ์นั้นประชาชนจะสามารถใช้งานได้ภายในปี 2562 นี้
นอกจากการใช้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือการทำงานที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนแล้ว จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชันให้กับประชาชนในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะเยาวชนให้เป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไปด้วย แน่นอนว่าการปลูกฝังและการอบรมความรู้ให้เยาวชนนั้นต้องผ่านสถานศึกษา โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากครู อาจารย์ในการสอนและการทำกิจกรรม ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาของ ป.ป.ช. ในสถานศึกษาในทุกระดับ ดังนั้นเทคโนโลยีจึงมีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นสื่อการเรียนการสอนเรื่องนี้ด้วย เพราะการเรียนในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดให้ถูกสอนโดยครูภายในห้องเรียนเท่านั้น แต่ผู้เรียนสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง ครู อาจารย์เป็นเพียงผู้ชี้แนะและที่ปรึกษาให้กับผู้เรียนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนอกจากครู อาจารย์มีการปรับใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสอนแล้ว ยังใช้เทคโนโลยีในการสร้างพื้นที่เพื่อปรึกษา แบ่งปันองค์ความรู้ นำไปพัฒนาการเรียนการสอนให้น่าสนใจอีกด้วย
เทคโนโลยีไม่เพียงแต่เป็นสื่อการสอนเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้กับการศึกษาในระบบเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาการเรียนรู้ผ่านเกมออนไลน์ที่ชื่อว่า Corrupt The Game ได้อีกด้วย โดยเป็นเกม Visual Novel เกมแรกของไทยที่มีเนื้อเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน มีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักและเรียนรู้ปัญหาคอร์รัปชันกับกลุ่มเยาวชน โดยนำเรื่องราวการทุจริตคอร์รัปชันที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาสร้างเป็นเนื้อหาเกมให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ถึงสาเหตุของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ได้เห็นผลกระทบของปัญหาต่อสังคม โดยผู้เล่นเองจะได้ตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาตามกระบวนการต่างๆ ที่เกมนำเสนอ เพื่อให้ผู้เล่นแต่ละคนเจอกับผลกระทบจากปัญหาที่แตกต่างกัน หลังจากที่เกมดังกล่าวเปิดตัวให้ผู้เล่นสามารถเล่นได้ผ่านโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ปี 2017 ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มนักเล่นเกมออนไลน์จนปัจจุบันทีมผู้จัดทำและองค์กรเครือข่ายมีแผนพัฒนาเกมให้สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อให้เหมาะกับการเรียนในห้องเรียนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนทั่วประเทศอีกด้วย
การสร้างสังคมไทยให้โปร่งใสเหมาะกับการเป็น “ประเทศไทย 4.0” ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นอาจจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องยังอาศัยเวลาในการพัฒนาทั้งคนและเครื่องมือต่างๆ ควบคู่กันไปอีกสักพัก สิ่งที่ผู้เขียนได้กล่าวมา
นั้นเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
นันท์วดี แดงอรุณ
HAND Social Enterprise
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี