แม้ว่าตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาวะผันผวนแต่ก็ยังมีอีกหลายกิจการที่ยังเชื่อมั่นในฐานที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นไทย และมั่นใจว่าตลาดหุ้นไทยยังเป็นแหล่งในการระดมทุนที่ดี หนึ่งในนั้นคือ บมจ.ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ (TACC) โดย นายชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เอ.ซี.คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC) กล่าวกับ “แนวหน้า โลกธุรกิจ” ว่า TACC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจจัดหา ผลิต และจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟ โดยมียอดขายหลักมาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผ่านเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven มานานกว่า 12 ปี ขณะเดียวกันยังเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาเขียวในประเทศกัมพูชา ซึ่งครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 50% หรือมากกว่า 1 ล้านขวดต่อเดือน จากจำนวนยอดขายของตลาดรวมอยู่ที่ราว 2 ล้านขวดต่อเดือน
ธุรกิจของ TACC แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ 1.ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทร่วมพัฒนากับพันธมิตรทางธุรกิจ (Business to Business : B2B) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในโถกดที่เป็นรสชาติหลัก ได้แก่ กาแฟเย็น ซึ่งเป็นตราสินค้าของ 7-Eleven และชานม ภายใต้ตราสินค้า “เชนย่า” ของบริษัท, ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงพร้อมชงที่จำหน่ายให้กับร้าน All Café ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มชงสดที่ตั้งอยู่ใน 7-Eleven และผลิตภัณฑ์ที่บริษัทร่วมพัฒนาเพื่อจำหน่ายเป็นครั้งคราวหรือตามฤดูกาล 2.ผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของบริษัท (Business to Consumer : B2C) ได้แก่ ชาเขียวพร้อมดื่ม ตรา “เชนย่า”, กาแฟปรุงสำเร็จ ตรา “วีสลิม”, เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ตรา “ชาช่า”, ตรา “ณ อรุณ” และตรา “สวัสดี” ซึ่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“จุดเริ่มต้นเรามาจากธุรกิจ “ชาไทย” เพราะเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน... สมัยก่อนเราไปร้านก๋วยเตี๋ยวร้านไหนก็มีขาย แต่ตอนนี้หากินได้ยากมาก ทำให้เรากลับมานั่งคิดทบทวนว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย...นั่นจึงเป็นที่มาของการเข้ารุกตลาดเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และเป็นพันธมิตรกับ 7-Eleven ที่มีเครือข่ายสาขากระจายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญของเรา” ชัชชวี กล่าว
คุณชัชชวี ย้ำอีกว่าเราได้ทำธุรกิจร่วมกับร้านสะดวกซื้อชั้นนำของประเทศอย่าง 7-Eleven ในการพัฒนาเครื่องดื่ม
ในโถกดมาเป็นเวลานานกว่า 12 ปี จนปัจจุบัน บริษัทถือเป็นผู้นำที่มี Market Share เป็นอันดับ 1 ในส่วนที่เป็นเครื่องดื่ม
ในโถกดที่จำหน่ายในร้าน 7-Eleven จากการที่เป็นเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ บมจ. ซีพี ออลล์ (Key Strategic Partner) และในปี 2556 TACC ได้รับรางวัล Partnership Award 2013 “Best of Business Growth” จากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรางวัลที่ 7-Eleven มอบให้กับคู่ค้าที่มีการทำงานร่วมกันและมีผลการดำเนินงานเติบโตดีเยี่ยม โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ จึงแสดงให้เห็นว่าเราได้รับการยอมรับจาก CPALL เทียบเท่า กับองค์กรชั้นนำของประเทศ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ 7-Eleven อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ TACC ยังได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มจากการจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียว “Zenya” ไปในตลาดกัมพูชาในปี 2550 จนปัจจุบัน TACC ถือเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มชาเขียวในประเทศกัมพูชาที่ครองมาร์เก็ตแชร์กว่า 50% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว บริษัทมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ผลิตภัณฑ์ เพื่อเน้นจำหน่ายในต่างประเทศเป็นหลัก ประกอบด้วย เครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผง ตรา “ณ อรุณ” และเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงตรา “สวัสดี” โดยเครื่องดื่ม “สวัสดี” เป็นสินค้าที่สร้างความแตกต่างโดยพัฒนาให้เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชิ้นเนื้อผลไม้ โดย
ใช้จุดแข็งของผลไม้ไทยที่มีความอร่อย เป็นที่ถูกอกถูกใจของคนจีน สำหรับ เครื่องดื่ม “สวัสดี” จะเน้นเจาะตลาดจีนโดยเฉพาะคือ นมทุเรียนผสมเนื้อทุเรียน นมมะม่วงผสมเนื้อมะม่วง และชานมไทย ปัจจุบัน เราได้เริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มสวัสดีผ่านช่องทางออนไลน์เข้าไปในประเทศจีนแล้ว
“ความสำเร็จที่ผ่านมาของ TACC เกิดขึ้นได้จากปณิธานการดำเนินธุรกิจ 3 ประการ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และแตกต่างทั้งรูปแบบและรสชาติ นอกจากนี้ เรายังมีความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งและทันท่วงที และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรามีความจริงใจกับพันธมิตรทางธุรกิจและ จากการที่ TACC ไม่หยุดที่จะคิดค้นหรือพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ทำให้ผมมั่นใจว่าเราจะเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแกร่งและมั่นคง” นายชัชชวี กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2558 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 ว่าบริษัทมีรายได้รวม 248.09 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 2.56 โดยมีกำไรสุทธิ 15.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.77 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 102.72% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 7.56 ล้านบาท ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของ
ปี 2558 มีรายได้รวม 745.42 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 3.25 โดยมีกำไรสุทธิ 54.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.68 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 77.36% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 30.61 ล้านบาท รวมทั้งสูงกว่ากำไรสุทธิทั้งปีของปี 2557 ที่มีจำนวน 51.84 ล้านบาท
สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ในภาพรวมยอดขายจะค่อนข้างทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายในการมุ่งเน้นขายสินค้ากลุ่มที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มมากขึ้น และงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีการผลิตสินค้าจากโรงงานผลิตเครื่องดื่มปรุงสำเร็จชนิดผงของบริษัทได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 95.60% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวม จึงทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง โดยจะเห็นได้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นในงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 ของบริษัทอยู่ที่ร้อยละ 30.53 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.20 ในปี 2557 นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยมีการควบคุมงบประมาณการใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์และการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 5.15% ในปี 2557 เป็น 7.28% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 และคาดว่าแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะมีผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้หากพิจารณาในด้านฐานะการเงิน จะเห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วน
ของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2558 อยู่ที่ 1.50 เท่า ลดลงจาก ณ สิ้นปี 2557 ที่อยู่ที่ 2.27 เท่า นอกจากนี้
บริษัทยังมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น หรือ ROE ในระดับสูง โดยในปี 2557 อยู่ที่ 93.39 % และงวด 9 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 66.50 แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอยู่ในระดับที่ดี
ล่าสุดบริษัทมีแผนที่จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 168 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์)
หุ้นละ 0.25 บาท แบ่งเสนอขายต่อประชาชน 159 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท จำนวน 9 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.25 บาท ในราคาหุ้นละ 2.88 บาท โดยหุ้นทั้งสองส่วนจะเสนอขายในราคาเดียวกัน โดยจะนำเงินที่ได้ไปใช้ลงทุนในโครงการเครื่องกดเครื่องดื่มแบบอัตโนมัติ (Vending Machine) โดยตั้งเป้าหมายติดตั้ง 1,500 ตู้ ภายในปี 2560 และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งจะขายหุ้นไอพีโอ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในวันที่ 2 ธันวาคมนี้
และหลังการขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในปลายปีนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับ TACC ทำให้มีเงินทุนเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ โดยบริษัทเตรียมพัฒนาสินค้าใหม่ร่วมกับ 7-Eleven และขยายตลาดสินค้าในกลุ่ม B2C ไปต่างประเทศโดยเริ่มจากตลาดที่มีศักยภาพอย่าง กัมพูชา จีน สิงคโปร์ และเมียนมา
“จุดแข็งที่สำคัญของเราคือ การเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ 7-Eleven มานานกว่า 12 ปี ทีมผู้บริหารมีประสบการณ์การทำธุรกิจเครื่องดื่มมากกว่า 20 ปี อีกทั้ง TACC ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ แผนการขยายการลงทุนธุรกิจด้านเครื่อง Vending Machine จะช่วยผลักดันรายได้ให้บริษัทเติบโตอย่างโดดเด่นและแข็งแกร่ง และสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต ดังนั้นการกำหนดราคาไอพีโอของ TACC ที่ 2.88 บาท/หุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสม จึงมั่นใจว่า TACC จะเป็นหุ้นน้องใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” นายชัชชวี กล่าวในที่สุด
อนันตเดช พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี