นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากร ได้ปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2559 ลงจากเดิม 1.2 แสนล้านบาท เป็น 1.16 แสนล้านบาทหรือลดลง 4,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าการเข้าสู่การปรับโครงการกรมศุลกากรระยะที่ 2 ที่มีการปรับปรุงอากรขาเข้าสินค้าอีกกว่า 1,000 รายการ จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีกลุ่มต่างๆที่ไทยร่วมเป็นภาคี จะมีผลกระทบต่อจัดเก็บรายได้ที่ลดลง ประกอบกับช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รายได้ของกรมศุลกากรลดลงตามสินค้าที่มีการนำเข้าลดลงอย่างเช่น รถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ
" การปรับโครงสร้างระยะที่ 2 ที่จะมีการปรับลดอากรประเมินว่าภาษีหายไปแน่ๆ 4,000 ล้านบาท แต่ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ เชื่อว่าจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย แต่ยังไม่รู้ว่าจะกระทบเท่าไร และผลการจัดเก็บรายได้จะหลุดจากเป้าที่ขอปรับลดมาอยู่ที่ 1.16 แสนล้านบาทหรือไม่ตรงนี้ต้องรอดูและทำให้ดีที่สุด ซึ่งขณะนี้กรมศุลกากร พยายามพัฒนาระบบเพื่ออุดรอยรั่วให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากที่สุด " นายกุลิศกล่าว
ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 58 - ก.พ. 59) กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 4.83 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,548 ล้านบาท หรือ 3.1% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 1.8% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว สำหรับยอดจัดเก็บรายได้ล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.พ. อยู่ที่ 8,395 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 9,400 ล้านบาท และต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 9,203 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามยังพบว่าสินค้าที่มีมูลค่าการจัดเก็บอากรนำเข้าสูงในเดือน ก.พ. 2559 ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ มียอดการจัดเก็บอากรกว่า 1,355 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ม.ค. ที่มียอดอากรนำเข้า 1,680 ล้านบาท , เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ มียอดอากรนำเข้าเดือน ก.พ. อยู่ที่ 849 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค. ที่มีอากรนำเข้า 857 ล้านบาท , เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบ มียอดอาการนำเข้าในเดือน ก.พ. อยู่ที่ 671 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือน ม.ค. ที่มียอดอากรนำเข้าอยู่ที่ 686 ล้านบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-กุมภาพันธ์ 2559) จัดเก็บได้ 898,061 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 43,876 ล้านบาท หรือ 5.1 % (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9.8 % ) โดยการนำส่งรายได้ของหน่วยงานอื่น 5.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 70 % การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 6.1 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5.1 % และภาษีเบียร์ 4.4 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12.6 %
อย่างไรก็ตามในภาพรวม ของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 154,068 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 12,369 ล้านบาท หรือ 7.4 % (แต่สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 3.0 % ) เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี