เลขาฯสมาคมโรงสี ชี้ภัยแล้งทำพิษ หยุดกิจการชั่วคราวแล้วกว่า 700-800 แห่งพร้อมผันตัวเป็นผู้ส่งออกข้าว หารายได้ทดแทนช่วงหน้าแล้ง
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ โรงสีประมาณ 700-800 แห่ง จากทั้งหมด 1,500-1,600 แห่งทั่วประเทศ หรือประมาณ 50-60% ได้หยุดกิจการไปแล้วเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ที่ทำให้ปริมาณข้าวเปลือกที่นำมาจำหน่ายให้โรงสีมีน้อย หรือแทบไม่มีเลยซึ่งโรงสีหลายแห่งไม่มีข้าวเปลือกมานาน5-6 เดือนแล้ว จึงทำให้โรงสีขาดรายได้และทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง รายจ่ายมีมากกว่ารายรับทั้งต้องจ้างพนักงาน จ่ายค่าสินเชื่อเงินกู้และอื่นๆ เฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านบาทต่อราย
“โรงสีอาจต้องหยุดกิจการชั่วคราวไปจนพ้นช่วงหน้าแล้ง จึงจะกลับมาดำเนินกิจการเหมือนเดิม เพราะชาวนาจะกลับมาปลูกข้าวได้เหมือนเดิม ส่วนโรงสีที่มีสภาพคล่องอยู่หรือมีข้าวในโรงสีก็สามารถดิ้นรนต่อเพื่อให้มีรายได้ต่อไป”นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ โรงสีหลายรายได้หาแนวทางในการสร้างรายได้ในช่วงภัยแล้ง เช่น การหันมาส่งออกข้าว โดยมีการประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล หรือใช้ข้าวในสต๊อกของโรงสี โดยในปี 2558 โรงสีสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 1.3 ล้านตัน ขณะเดียวกันโรงสีมีการพัฒนาตนเองไปเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรุ่นลูกหลานที่จบการศึกษาในระดับสูงๆได้มีการพัฒนากิจการให้มีรายได้ที่หลากหลายและหลายช่องทาง เช่น พัฒนาข้าวที่มีอยู่แปรรูปเป็นสินค้าโอท็อป เพื่อสร้างสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และนำไปจำหน่ายตามตลาดต่างๆ ซึ่งก็สามารถสร้างรายได้แก่โรงสี
นอกจากนี้ทางโรงสีต้องการให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญในการให้สินเชื่อลูกค้าเก่าๆ เพราะตอนนี้โรงสีหลายรายก็มีปัญหาการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เนื่องจากสถาบันการเงินมองว่าธุรกิจของโรงสีบางรายไม่มีอนาคตหรือมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่โดดเด่น จึงไม่อนุมัติสินค้า แต่อย่างไรก็ตามโรงสีเชื่อว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็จะสามารถสร้างรายได้เหมือนเดิม ขณะเดียวกันทางสมาคมฯก็ได้มีการแนะนำให้สมาชิกให้มีการระมัดระวังมากขึ้นในการทำสัญญาทางการค้าโดยเฉพาะเรื่องของเอกสาร เพราะไม่ต้องการให้เหตุการณ์เบี้ยวหนี้เหมือนที่ผ่านมา
“แต่เดิมเจ้าของโรงสีจะมีรายได้จากการสีข้าว และขายข้าวที่ซื้อมาจากชาวนาเป็นหลัก และการทำการค้าก็ใช้ระบบแบบเชื่อใจกันซึ่งบางรายก็ถูกเบี้ยวหนี้จากหยง (นายหน้าค้าข้าว) และผู้ส่งออกเพราะหลักฐานการขายส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ผู้ส่งออก ส่วนโรงสีก็รับเงินจากการขายข้าวเท่านั้น” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในปี 2559 ทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดว่า ไทยจะส่งออกข้าวได้ 9 ล้านตัน มูลค่า 4,300ล้านเหรียญสหรัฐ และมองว่าทิศทางการส่งออกข้าวไทยจะเป็นขาขึ้น เพราะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยตลาดเอเชียมีความต้องการนำเข้าข้าวมากขึ้น จากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ และภัยแล้ง ทำให้ข้าวลดลง ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวโลกปีนี้ อยู่ที่ 469.32 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 1.9%
โดยในปี 2559 กระทรวงพาณิชย์จะพยายามขยายตลาดและรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวเอาไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ไทยกลับมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ได้ ส่วนการส่งออกข้าวในปี 2558 ไทยส่งออกข้าวได้9.8 ล้านตัน ลดลง 10.7% เพราะเศรษฐกิจที่ซบเซา กำลังซื้อของประเทศผู้ซื้อหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ก็ลดลงโดยไทยส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย ที่ส่งออกข้าวได้ 10.23 ล้านตันอย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการส่งออกข้าว คือ ภัยแล้งที่ส่งผลต่อผลผลิตข้าวให้ลดลง และเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ทำให้กำลังซื้อของประเทศผู้นำเข้าข้าวลดลง มีการหันไปพึ่งพาผลผลิตในประเทศแทน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี