นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้ง 5 โครงการ จะออก ทีโออาร์ ประมูลภายในเดือนนี้ และจะได้บริษัทผู้ชนะการประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 3-5 ปี โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการสนามบินอู่ตะเภา ขั้นตอนประมูลจะแล้วเสร็จพร้อมกันในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี สนามบินอู่ตะเภาจะขยายไปเป็นเมืองการบินได้ ซึ่งหลังจาก 2 โครงการนี้เสร็จ ก็จะเกิดการขยายเมืองใหม่ต่างๆตามมา
โดยในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ จะออก ทีโออาร์ ประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกพื้นที่ 6,500 ไร่ ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือ และสำนักงาน อีอีซี ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นประมูลโครงการนี้ โดยจะมีโครงการย่อยภายใน 6 โครงการ เช่น การก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร เทอร์มินอล 3 และศูนย์ธุรกิจการค้า ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ ธุรกิจซ่อมเครื่องบิน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบิน และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมอากาศยาน
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงร่างผังเมือง อีอีซี ฉบับแรกคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการของคนในพื้นที่ คาดว่าจะประกาศใช้ผังเมืองอีอีซีได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งจะเป็นการกำหนดการใช้พื้นที่อย่างละเอียด โดยผังเมือง อีอีซี นี้ จะกำหนดพื้นที่สีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรมทั้งพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษ 21 แห่ง เขตพื้นที่ อีอีซีไอ และอีอีซีดี รวมกันประมาณ 8.6 หมื่นไร่ และเตรียมพื้นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม เป็นพื้นที่สีม่วงอ่อนอีก 2.14 แสนไร่ รวมแล้วจะมีพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 3 แสนไร่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 3% ของพื้นที่อีอีซีทั้งหมดที่มีอยู่ 8.3 ล้านไร่
“มั่นใจว่าผังเมือง อีอีซี จะแล้วเสร็จตามกำหนดที่ตั้งไว้ภายในเดือนกรกฎาคม2562 แม้ว่าจะมีการคัดค้านจากชาวบ้านบางส่วน เพราะกฎหมายอีอีซี ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน แต่ในกระบวนการจัดทำผังเมืองจะเป็นไปตามหลักวิชาการ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนต่างๆประกอบการจัดทำผังเมืองอยู่แล้ว ซึ่งจะต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ รวมทั้งอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาจะเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ใช้แรงงานน้อย จึงไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม”นายมณฑล กล่าว
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ อีอีซี จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อชดเชยการส่งออกที่ขยายตัวลดลงต่อเนื่อง เพราะปัญหาเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้รัฐบาลยังวางแผนการลงทุนพัฒนาเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) หรือ SEC กับ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC และนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก โดยภายในเดือนพฤศจิกายน หรือไม่เกิน
ต้นเดือนธันวาคมนี้ จะเสนอโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือระนอง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SEC วงเงินหลัก 1 หมื่นล้านบาท จะครอบคลุม 4 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ นครศรีธรรมราช เป็นการยกระดับพื้นที่เชื่อมการขนส่งภาคใต้สู่มหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากเป็นพื้นที่หลักที่จะเชื่อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางชุมพร - ระนอง มูลค่า 10,000 ล้านบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี