“เจ๊ติ๋ม” เปิดบ้านซอยลาดพร้าว101 แจงปม ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล ระบุ ไทยทีวี ไม่เข้าข่ายเงื่อนไข เร่ง “กสทช.” ออกเงื่อนไขเยียวยาใช้ชัดเจน เตรียมยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุด รับม.44 ช่วยทีวีดิจิทัลประหยัดเงินได้ถึง 300 ล้านบาทต่อปี เชื่อมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลคลื่น 3 ช่อง รับบริษัทรายได้ลดลงเหลือปีละ 40 ล้านบาท จากปีละ 90 ล้านบาท
29 เม.ย.62 นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ “ติ๋ม ทีวีพูล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด เจ้าของช่องทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือไทยทีวี และช่องโลก้า เปิดเผยว่า การแถลงข่าวเปิดบ้านในครั้งนี้ไม่ได้ต้องการมาเรียกร้องอะไร แต่เพียงต้องการใช้สิทธิในฐานคู่กรณีระหว่างบริษัทกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หลังจากที่มี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือมาตรา 44 ซึ่งบริษัท มีสิทธิที่จะออกมาขอใช้สิทธิยืน เพื่อขอหลักเกณณ์เพื่อนำมาเทียบเคียงกับผลประโยชน์ ที่บริษัทจะได้รับซึ่งจะนำข้อมูลทั้งหมดส่งให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตามถึงแม้บริษัทจะไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการเยียวยา เพราะบริษัทเลิกสัญาไปแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และได้ยื่นฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2558 พร้อมทั้งยื่นอุทธรณ์เรียกเงินค่าเสียหายกว่า 1,134 ล้านบาท เนื่องจาก กสทช. ผิดสัญญา บริษัทจึงยืนยันจะดำเนินคดีต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด
“คสช.รับผิดชอบจริงและมีการเยียวยา ซึ่งเป็นฮีโรของพวกทีวีดิจิทัล แต่ไทยทีวีไม่ได้อยู่ในเงื่อนไข ม.44 เนื่องจากเราได้มีการฟ้องร้องกับ กสทช.และได้ถอนใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) เรียบร้อยแล้ว คนที่ได้ประโยชน์คือคนที่ยังมีไลเซ่นส์อยู่ ซึ่งบริษัทคิดว่ามันมีประโยชน์กับเราหรือไม่ ซึ่งเมื่อทีมกฏหมายของบริษัท พิจารณาดูแลไม่มีประโยชน์ทางตรงเลย แต่มีประโยชน์ทางอ้อม ในการนำเงื่อนไขมาเทียบเคียงการคิดค่าใช้จ่ายต่างๆ เหมือนกันสุภาษิตจีนที่ว่า รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง เมื่อกสทช.ผิดสัญญาก็จะต้องจ่ายให้กับเราเต็มจำนวน 100% ซึ่งเราก็เชื่อในความยุติธรรมของศาล”
อย่างไรก็ตามม.44 จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนได้ปีละ 200-300 ต่อปี หากมีการบอกเลิกสัญญา ซึ่งกสทช.ควรจะต้องเร่งการออกหลักเกณฑ์การเยียวทีวีดิจิทัลให้ชัดเจน และกำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาให้หลังบอกเลิกสัญญา ซึ่งกสทช.ควรที่จะใช้เงินจากกองทุน กทปส. ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทั ภายใน 3 เดือน หากจะต้องรอให้มีการประมูลคลื่น 5G ซึ่งผู้ประกอบการจะได้เงิน ในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจะทำให้ทีวีดิจิทัลตายก่อน โดยได้มีการพูดคุยกับผู้ประกอบการซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการคืนช่อง 3 ช่อง หลังใช้ มาตรา 44 จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่าจะคืน 5 ช่อง เพราะ กสทช. ยังไม่มีข้อมูลรอบด้าน และมีความล่าช้าในการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในการแก้ปัญหาทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลังเล ตัดสินใจที่ยากมาก เพราะถ้าคืนแล้ว จะกลับมาทำธุรกิจอีกยากมาก
“หากกสทช.จำเป็นต้องใช้คลื่นของช่องไทยทีวีจริง ก็มีความเป็นไปได้ในการเปิดโต้ะเจรจาซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด”
นายพันธุ์ทิพา กล่าวว่า สำหรับการประเมินอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลในประเทศไทย ควรมีทีวีประเภทธุรกิจ 13 ช่อง และทีวีของรัฐที่ไม่ต้องมีโฆษณา อีก 3 ช่อง ตอนนี้มีมากไป 22ช่อง และอีก 3 ช่อง ทีวีของรัฐ ขณะเดียวกัน ไม่เสียดาย ที่ยุติการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล เพราะที่ผ่านมาขาดทุนหนัก ปัจจุบันยังคงประกอบธุรกิจผลิตสื่อให้กับทีวีดิจิตอล มีพนักงาน 48 คน จาก 500 คน รายได้ปีละ 40 ล้านบาท จากเดิม 90 ล้านบาท โดยปัจจุบันยอมรับว่าสัดส่วนรายได้ที่มาจากแพลตฟอร์มเฟสบุคถึง 70% ที่เหลือเป็นจากคอนเท้นต์ที่ผลิตให้กับช่อง 5, ช่อง now และหนังสือพิมพ์อีก 30%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา บริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้เข้าไปพบ คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เนื่องจากต้องการทราบรายละเอียดของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ( รายละเอียดตามสำเนาหนังสือเรื่องขอทราบหลักเกณฑ์คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 ลงวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่แนบมาด้วยนี้ ) ถึงหลักเกณฑ์ และขอบเขตว่ามีประโยชน์กับบริษัทฯอย่างไร ซึ่งบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญาใบอนุญาตทั้ง 2 ช่องแล้ว บริษัทฯ จะได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้อย่างไรบ้างหรือไม่
ทั้งนี้หลังจากที่ได้เข้าไปพบ ก็ได้ทราบว่าคำสั่งนี้ใช้กับผู้ถือใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนมาตรการเยียวยาค่าเสียหายยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอการแต่งตั้งอนุกรรมการเยียวยาเสียก่อน ดังนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่าจะไม่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 44 ดังกล่าว เพราะบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญากับ กสทช. ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 และได้ยื่นฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ว่า กสทช. ผิดสัญญา การดำเนินการของ กสทช.ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงานและตามที่ กสทช.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็นการแจกคูปองที่เป็นไปอย่างล่าช้าเป็นเวลาถึง 6 เดือน
นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่มีความเข้าใจและขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งการขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า และบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 เรียกเงินคืนและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,134,991,689.22 บาท เหตุเพราะ กสทช.ผิดสัญญาและคำมั่น ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กสทช.ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่บริษัทไทยทีวี และการที่มีกระแสข่าวว่าบริษัทไทยทีวีจะฉวยโอกาสเอี่ยว รับการเยียวยา ตาม มาตรา 44 บริษัทฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทฯไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการเยียวยา เพราะบริษัทฯ เลิกสัญญาไปแล้วเนื่องจาก กสทช. ผิดสัญญา บริษัทฯ จึงยืนยันว่าจะดำเนินคดีต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด แต่หากทาง กสทช.ต้องการที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย โดยใช้มาตรา 44 เทียบเคียงในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นหน้าที่ของทาง กสทช. ที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่บริษัทต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี