แหล่งข่าวจากวงในโทรคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เสนอรายชื่อคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) หรือ National Cyber Security CommitteeNCSC ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการไซเบอร์ฯ จะประกอบไปด้วย
1. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 2. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว.กลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน เป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนงาน
อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1.นายปณิธาน วัฒนายากร ซึ่งเคยเป็นอดีตที่ปรึกษารองนายรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) 2.นายภูมิ ภูมิรัตนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัย และที่ปรึกษาอาวุโสของ บริษัท จีเอเบิล (G-ABLE) จำกัด 3.นายณาณพล ยั่งยืน 4.กิตติ โฆษะวิสุทธิ์ 5.นายบดินทร์ ทรัพย์สมบูรณ์ 6.นายวิเชฐ ตันติวานิช 7.ตัวแทนจากฝ่ายความมั่นคง
ทั้งนี้ ในการดำเนินงานภายใต้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 จะมีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.)ซึ่งมีรัฐมนตรีดีอีเอส เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องผู้ว่าการ ธปท. เลขาธิการ ก.ล.ต. เลขาธิการ กสทช. กำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) และประสานการเผชิญเหตุ
โดย กกม. จะกำหนดรายชื่อหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) 8 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคงของรัฐ บริการภาครัฐที่สำคัญ การเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์ พลังงานและสาธารณูปโภค สาธารณสุข และด้านอื่นๆ ตามที่บอร์ดกำหนดเพิ่มเติม ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยที่กำหนด
ขณะเดียวกันยังได้แบ่งประเภทภัยคุกคามทางไซเบอร์ออกเป็น 3 ระดับคือ 1. ไม่ร้ายแรง หมายถึงภัยคุกคามที่มีความเสี่ยงทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของ CII หรือบริการของรัฐด้อยประสิทธิภาพลง 2.ร้ายแรง หมายถึง การโจมตีระบบ มุ่งเป้าที่ CII ทำให้บริการภาครัฐ ความมั่นคงของรัฐ การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ สาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเสียหายจนไม่สามารถทำงานหรือใช้บริการได้ 3. วิกฤติ มีการโจมตีที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้าง ทำให้ระบบล้มเหลวจนรัฐไม่สามารถควบคุมได้ มีความเสี่ยงที่จะลามไปยังโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ หรือเป็นภัยที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งตกอยู่ในภาวะคับขัน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น 1 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ แต่ในระหว่างการจัดตั้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงดีอีเอส ทำหน้าที่ตามพ.ร.บ.นี้ และให้ปลัดกระทรวงดีอีเอสทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี