“จุรินทร์” ขยายเวลาห้ามส่งออกไข่ไก่ต่ออีก 30 วัน เปลี่ยนระบบจัดสรรหน้ากากอนามัย 2.3 ล้านชิ้น ให้“สธ.-มท.”บริหารจัดการเอง ด้าน ปลัด สธ.เร่งกระจายหน้ากากอนามัย 19.59 ล้านชิ้น ให้บุคลากรการแพทย์-สถานพยาบาล แจงมีวัตถุดิบผลิตหน้ากากได้ 200 ล้านชิน
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เปิดเผยว่า ตามที่ห้ามส่งออกไข่ไก่ไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 26มีนาคม2563 จะครบกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่สถานการณ์ขาดแคลนไข่ในประเทศยังคงมีอยู่ จึงได้ขยายคำสั่งห้ามส่งออกไข่ไก่ฯต่ออีกเป็นเวลา 30วันและจะยกเลิกคำสั่งนี้ทันทีหากสถานการณ์ไข่ไก่ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ปัจจุบันไทยผลิตไข่ไก่ได้ประมาณวันละ 41ล้านฟอง เดิมส่งออกวันละหลักแสนถึง 1ล้านฟอง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมเป็นต้นไป การจัดสรรหน้ากากอนามัยจะเปลี่ยนระบบใหม่ โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดซื้อจากโรงงานผลิต และมาแบ่งเป็น 2กอง กองแรกให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้นไปบริหารจัดการตามเดิม โดยจัดสรรให้โรงพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนตามเดิม ส่วนกองที่2 อีก 1ล้านชิ้น เปลี่ยนจากเดิมให้กรมการค้าภายในบริหารจัดการไปให้กระทรวงมหาดไทยบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แก้ไขปัญหาโควิด-19 ระดับจังหวัด ดังนั้น ควรมีหน้ากากอนามัยบริหารจัดการด้วย โดยกระจายไปทุกจังหวัดโดยตรง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบริหารจัดการภายในจังหวัดได้ ทั้งการจัดสรรฟรีให้กลุ่มเสี่ยงและการจำหน่ายในร้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ยังคงกำลังการผลิต 2.2-2.3ล้านชิ้นต่อวัน
ด้าน นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยอดรวมการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาลระหว่างวันที่ 7-28มีนาคม กระจายได้ 19.59ล้านชิ้น แต่ปัจจุบันการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทำให้แผนกระจายให้บุคลากรทางการแพทย์จะอยู่ที่ 1.3 ล้านชิ้นต่อวัน ส่วนหน้ากากN 95 ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับผู้ป่วยหนัก ต้องใช้วันละ 15ชิ้น ผู้ป่วยสังเกตการณ์ต้องใช้วันละ 5ชิ้น หากมีผู้ป่วย 10,000คน จะต้องใช้ 17,000ชิ้นต่อวัน ขณะนี้เราประสานไปยังบริษัท 3M ที่เป็นผู้ผลิตหน้ากาก N95 จากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย โดยที่เราสั่งไปก่อนหน้านี้ของจะทยอยเข้ามา เพราะตอนนี้สหรัฐฯและยุโรปก็มีปัญหาและจำเป็นต้องใช้ในประเทศของเขา ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่รับได้บริจาคนั้น จะมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เรื่องหน้ากากอนามัยที่ก่อนหน้านี้ระบุว่า มีในสต็อก 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริงคือวัตถุดิบสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น แต่ยังไม่ได้ทำการผลิต โดยเราจะจัดสรรให้กับบุคลาการแพทย์และสถานพยาบาลก่อน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแผนจัดสรรหน้ากากอนามัยและเครื่องมือทางการแพทย์ ว่า เราจะล้างตัวเลขเก่าทั้งหมด เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างความเข้าใจกับประชาชน จะประเมินทำแผนแจกจ่ายใหม่ โดยขณะนี้ 11โรงงาน สามารถผลิตได้ 2.3ล้านชิ้นต่อวัน โดยเวลา 17.00น.วันที่ 30มีนาคม บริษัทไปรษณีย์ไทยจะเป็นผู้รับหน้ากากไปกระจายยัง 76จังหวัด โดยจัดสรรให้ สธ.1.3ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์และให้กระทรวงมหาดไทย1ล้านชิ้น เพื่อไปให้ให้ อสม.และเจ้าหน้าที่ที่บริการประชาชนและมีความเสี่ยง การแจกจ่ายแบบนี้จะใช้ไประยะหนึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เพียงพอแล้วจะจัดสรรไปให้ประชาชนเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะไม่มีการส่งออกหน้ากากไปยังต่างประเทศ ยกเว้น 3กรณีที่มีพันธะทางกฎหมาย ได้แก่ ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา และสัญญาเขตการค้าเสรี อย่างไรก็ตาม การนำเข้าหน้ากากอนามัยนั้น กระทรวงการคลังได้มีมาตรการได้มีมาตรการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายการ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี