คลังจัดงบ 3 แสนล.
ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด
‘สุพัฒนพงษ์’มั่นใจคุมอยู่
ประกาศแผนเยียวยาพ.ค.นี้
รองนายกฯ มั่นใจ 2 สัปดาห์ คุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ งัดมาตรการเยียวยา พฤษภาคมนี้ ยันไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ด้าน กระทรวงการคลัง อัดฉีดงบ 3 แสนล้าน ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า ยังคงมั่นใจว่าการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจะสามารถควบคุมได้ภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากในขณะนี้แม้จะมีผู้ที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่จำนวนของผู้ที่รักษาหายก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ซึ่งขอให้ประชาชนยังคงเชื่อมั่นว่ารัฐบาลดูแลสถานการณ์ตรงนี้ได้
เมื่อถามว่าแผนการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจะยังคงเป็นไปตามแผนเดิมหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า ยังเป็นไปตามแผนเดิมคือในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเปิดบางส่วน บางพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวที่รับการฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ ส่วนการปรับลดประมาณการรายได้การท่องเที่ยวก็คงต้องเป็นไปตามนั้น แต่ยังมั่นใจว่าประชาชนคนไทยจะยังท่องเที่ยวกันเอง และจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเพราะมีกลุ่มคนที่มีเงินเก็บออมในปีที่ผ่านมาก็มีการออมเงินกันเพิ่มขึ้นถึง 3 - 4 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยหมดโอกาสที่จะขยายตัวถึง 4% แล้วใช่หรือไม่รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวว่า ก็ยังคาดหวังว่าถ้าประชาชนออกมาช่วยกันจับจ่ายใช้สอยกันมาก โดยเฉพาะผู้มีเงินออม ซึ่งในเดือนพฤษภาคม ได้เตรียมมาตรการเอาไว้แล้วในการให้คนเอาเงินออมออกมาใช้ โดยรัฐบาลสนับสนุนมาตรการบางส่วน รวมทั้งมาตรการเยียวยาก็ได้เตรียมไว้แล้วจะประกาศให้ทราบในเดือนพฤษภาคม และมีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้
“มาตรการต่างๆที่จะออกมารัฐบาลยังมีเงินเพียงพอสำหรับเยียวยารอบนี้ ยังไม่ต้องกู้เงินเพิ่มเติม” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเร่งอัดฉีดเม็ดเงิน 2-3 แสนล้านบาท ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท โดยในส่วนมาตรการของกระทรวงการคลัง ที่พิจารณาจะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ลดภาระของประชาชนและกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภคภายในประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
“คลังได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ มีการออกมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่วนการทำมาตรการระยะต่อไป จะพิจารณาอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา และเกิดประโยชน์สูงสุด”น.ส.กุลยา กล่าว
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการ‘เราชนะ’ในวันเดียวกันนี้ มีประชาชนได้รับสิทธิในโครงการฯ แล้ว 32.8 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 202,173 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้า ร้านค้าคนละครึ่ง รวมถึงผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนกว่า 1.3 ล้านกิจการ