นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ว่า การประชุม กกร.ครั้งนี้เป็นการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ(Video Conference) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยโดยที่ประชุมมองว่าการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังยังสดใสตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มีความคืบหน้าด้านการกระจายวัคซีนอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งเป็นเกือบ 40% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ต่อเนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวขยายตัวได้มากกว่า 10%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าโดยผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวสะท้อนว่าผลกระทบจากการระบาดคราวนี้รุนแรงมากจากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้ามาซ้ำเติมกิจกรรมทางธุรกิจให้แย่ลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการค้าที่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบมากกว่า 2 ระลอกก่อนหน้าจากกำลังซื้อลดลง แรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็น สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ฉบับล่าสุดในเดือนมิถุนายน ที่เสนอแนะให้ประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการคลังมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งใช้จ่ายด้านการลงทุนภาครัฐ และต่อเนื่อง
“ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนและนโยบายสนับสนุนที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป การเร่งกระจายวัคซีนที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ภาคการผลิตและส่งออกยังเป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจและสร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ทำให้อุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวในกรอบ 0.5% ถึง 2.0% ด้านการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 5.0% ถึง 7.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%”
พร้อมกันนี้ที่ประชุม กกร. มีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเร่งดำเนินการใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมายและบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไปพร้อมกับการเร่งออกแผนสนับสนุนการท่องเที่ยวตามรูปแบบของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีน และทยอยขยายขอบเขตไปยังจังหวัดท่องเที่ยวอื่น หากสำเร็จเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้ แทนที่จะเป็นไตรมาส 1 ของปีหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์
2.เพิ่มมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อโดยพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มจาก 9 หมื่นล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง
3.พิจารณาแนวทางมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ (E-voucher) ให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเชื่อว่าจะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงมากขึ้นในส่วนของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ เนื่องจากกระบวนการต้องใช้เวลาและมีผู้ประกอบการยังไม่เข้าใจรูปแบบ ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูกว่า8,000 ราย วงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้มีผู้ประกอบการ 4 รายมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยภายใน 2-3สัปดาห์ กกร.จะรีบสรุปสาเหตุของการเข้าถึงมาตรการของผู้ประกอบการที่ยังเข้าไม่ถึง และแนวทางแก้ไข ก่อนนำเสนอธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสอท. กล่าวว่า สำหรับเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ กกร.อยู่ระหว่างเร่งช่วยเหลือ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ต้องสร้างความเข้าใจและปลดล็อกข้อติดขัดร่วมกัน อย่างมุมของเอสเอ็มอีบางรายทำธุรกิจในครอบครัว การจะต้องเอาทรัพย์สินมาพักไว้กับธนาคารอาจทำให้กังวลว่าจะไม่ได้คืนในอนาคต จึงต้องทำความเข้าใจร่วมกัน