นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเสริมสร้างรากฐานความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรืออาชีพดีพร้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เดินหน้าขับเคลื่อนไปยังประชาชนทั่วประเทศ เพื่อเร่งเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาอาชีพเสริมเพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชนและประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
“ปัจจุบันกิจกรรมดังกล่าวได้เสร็จสิ้นการดำเนินงานช่วงเฟสแรก ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2565 เป็นที่เรียบร้อย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกิจกรรมผ่านหลักสูตรที่ 1 คือ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต พบผลลัพธ์สำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ ภาพรวมดำเนินการคิดเป็น 50% ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 1,750 แห่งมีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 350,000 คน แบ่งเป็นภาคเหนือกว่า 1 แสนกว่าคน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 8.5 หมื่นกว่าคน ภาคกลางกว่า 9.8 หมื่นกว่าคนภาคตะวันออกกว่า 2.2 หมื่นกว่าคน และภาคใต้กว่า 4.5 หมื่นกว่าคน”นายสุริยะกล่าว
จากผลการประเมินผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 346,800 คน หรือคิดเป็น 99.10% ของผู้เข้าอบรมทั้งหมด พบว่า ผลลัพธ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความพึงพอใจ คิดเป็น 92.18% นำไปใช้ในการประกอบอาชีพหรือใช้ในชีวิตประจำวันได้ คิดเป็น 99.42% ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ไปสร้างอาชีพ หรือต่อยอดในการประกอบธุรกิจได้ คิดเป็น98.41% และผู้เข้าร่วมอบรมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 54.55%
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า จากความสำเร็จที่ดีพร้อม ได้ดำเนินงานโครงการอาชีพดีพร้อมไปในเฟสแรกนั้น ทำให้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) ดีพร้อมเตรียมเดินหน้าพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ชุมชนในรูปแบบการอบรมฝึกอาชีพระยะสั้นเฟสสองอีก จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน และการประกอบธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มั่นใจว่าผลการดำเนินกิจกรรมจะประสบความสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ผู้เข้าร่วมตลอดทั้งโครงการ 700,000 คน พร้อมคาดการณ์ว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท
การพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ชุมชนในรูปแบบการอบรมฝึกอาชีพระยะสั้น จำนวน 4 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรที่ 1 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต หลักสูตรที่ 2 กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ หลักสูตรที่ 3 กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ หลักสูตรที่ 4 กิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินและการประกอบธุรกิจ