บุกเชียงใหม่! "จุรินทร์"ทำสัญญาซื้อขายข้าวเหนียวล่วงหน้า ดันราคาพุ่ง 12,000 บาท/ตัน สร้างหลักประกันข้ามปี ร่วม 35,000 ตัน ช่วยชาวนาเชียงใหม่ 11,000 ครัว
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรม "พาณิชย์เดินหน้าอมก๋อยโมเดล@เชียงใหม่ สินค้าข้าวเหนียว" และเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายในการซื้อขายข้าวเหนียว ที่หมู่ 8 ตําบลริมใต้ อําเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน โดยการประสานงานของทนายเต้ย ว่าที่ ร.ท.วิศธร เถาตระกูล ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 5 นายวิศิษฎ์ วัชรินทร์ ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 6 และนางสาว จิตพลอย จิตจักรวาลทอง เลขานุการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-เมียนมา จังหวัดเชียงใหม่ และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ โดยในขณะลงพื้นที่มีประชาชนในพื้นที่ เกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ มาต้อนรับและขอถ่ายรูปคู่กับนายจุรินทร์เป็นจำนวนมาก บรรยากาศสุดคึกคักและเป็นกันเอง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ทำงานร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศในพืชทุกชนิด วันนี้เป็นกรณีข้าวเหนียว เพราะ อ.แม่ริม และอีก 4 อ.สำคัญ ประกอบด้วย อ.แม่แตง อ.สันกำแพง อ.ดอยสะเก็ดและ อ.พร้าว รวม 5 อำเภอ มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว เป็นแหล่งป้อนข้าวเหนียวให้คนเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนบริโภค ซึ่งมีสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่รวมกันถึง 11,000 ราย 7 กลุ่ม ซึ่งวันนี้จะมาช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียวโดยเฉพาะ ตนมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์กับอธิบดีกรมการค้าภายในของกระทรวงพาณิชย์ หาผู้รับซื้อรายใหญ่ สร้างหลักประกันให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว 5 อำเภอ ให้มีหลักประกันว่าถ้าปลูกข้าวเหนียวคุณภาพปีนี้ ความชื้นไม่เกิน 15% จะได้รับหลักประกันเรื่องราคาตามสัญญาที่เซ็นตามมาตรฐานที่กำหนด ซื้อราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 12,000 บาท
อย่างน้อยปีนี้ไม่ต้องเผชิญชะตากรรมตามราคาที่ไม่เสถียรของตลาดโลกและตลาดในประเทศอีก ถ้าสำเร็จจะช่วยดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวเชียงใหม่ต่อไป ภาคเหนือและทุกภาคของประเทศ พืชเกษตรอื่นด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญาที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย โดยผู้ซื้อประกอบด้วย 1.หจก.ร่วมทุนรุ่งเรือง (จ.ชัยนาท) 2.หจก.ป.รุ่งเรืองธัญญา (จ.สิงห์บุรี) 3.บจก.ทีบีเอสไรซ์มิลล์ (จ.พิจิตร) 4.บจก.ธนสรรไรซ์ (จ.ชัยนาท) และ 5.บจก.รุ่งเรืองพืชผล 369 (จ.เชียงใหม่) ซึ่ง 5 บริษัทนี้เซ็นสัญญาแล้ว ถ้าวันไหนข้าวเหนียวราคาตก 5 บริษัทนี้ต้องรับซื้อตันละ 12,000 บาท เป็นสัญญาที่ตกลงไว้และเกษตรกรต้องปฏิบัติตามสัญญา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ มอบหลักประกันที่ชัดเจนแน่นอนให้กับเกษตรกร วันนี้เซ็นสัญญาทั้งหมด 35,000 ตัน คิดเป็น 30% ของผลผลิตปีนี้ ผลผลิตที่เหลืออีก 70% หรือ 85,000 ตัน จะมีส่วนช่วยให้กับเกษตรกรที่ไม่ได้เซ็นสัญญาได้ด้วยในการดึงราคาขึ้น ซึ่งเป็นวิน-วินโมเดล ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน
"ปีนี้ราคาข้าวจะดีขึ้นเป็นลำดับเพราะการส่งออกข้าวดีมาก ปีที่แล้วส่งออกข้าวได้ 6.2 ล้านตัน ปีนี้ 9 เดือนแรกปีนี้กำลังจะเลย 7 ล้านตันแล้ว คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 7 - 8 ล้านตัน จะช่วยให้ราคากระเตื้องขึ้น เพราะข้าวของเกษตรกรสามารถระบายไปต่างประเทศได้" รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าว
ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า สำหรับเกษตรกร จ.เชียงใหม่ ได้มีการรับเงินในโครงการประกันรายได้เกษตรกรในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนถึง 103,575 ราย วงเงินรวม 1,579 ล้านบาท ซึ่งได้รับเงินเฉลี่ยรายละ 15,241 บาท ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานมี ได้โครงการพาณิชย์ลดราคา!ช่วยประชาชน Lot 20 มาจำหน่ายสินค้าในราคาพิเศษ เพื่อลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนด้วย
- 006