นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)” รุ่นที่ 26 ว่าปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้รับการยอมรับและขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นธุรกิจที่สามารถลดข้อจำกัด สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุน ขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และสร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าและเร็วกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง ธุรกิจแฟรนไชส์จึงเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองว่าสามารถทำให้คนธรรมดาเป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และส่งเสริม GDP ให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง การยกระดับธุรกิจของคนไทยโดยใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์เพื่อขยายธุรกิจเป็นระบบสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพในการลงทุน และสร้างธุรกิจแฟรนไชส์มาตรฐาน ตลอดจนนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพองค์กรให้สามารถขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ร้านแฟรนไชส์มีสาขาเพิ่มขึ้น
กรมจึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)” รุ่นที่ 26 ระหว่างวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 23 มีนาคม 2566 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงขั้นตอนในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ และยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และสามารถจัดทำแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์และสร้างคู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งประกอบด้วยความรู้ 4 Module ได้แก่ การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ กลยุทธ์ทางการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และการสร้างคู่มือ แผนธุรกิจ และสัญญาแฟรนไชส์ จากวิทยากรที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์
“แฟรนไชส์เป็นเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน เป็นธุรกิจที่ตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี ดังนั้น การเลือกลงทุนธุรกิจในระบบแฟรนไชส์จึงเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องระบบการบริหารจัดการ ระบบสนับสนุนและโลจิสติกส์ รวมถึงแบรนดิ้งของสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักแล้วในตลาดที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ของธุรกิจได้”
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2565) มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) 1,138 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 491 ราย (คิดเป็น 43%) ธุรกิจบริการ 188 ราย (คิดเป็น 17%) ธุรกิจค้าปลีก 164 ราย (คิดเป็น 14%) ธุรกิจเครื่องดื่ม 148 ราย (คิดเป็น 13%) ธุรกิจความงาม/สปา 82 ราย (คิดเป็น 7%) และธุรกิจการศึกษา 65 ราย (คิดเป็น 6%)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี