“ลมหายใจเพื่อน้อง” เป็นโครงการที่ “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” จัดทำขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยาวชนจากวิกฤตเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาซึ่งสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยต่อยอดมาจาก “ลมหายใจเดียวกัน” ที่ ปตท. สนับสนุนภารกิจบุคลากรทางการแพทย์ฝ่าฝันช่วงเวลาอันยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว
โดย ปตท. ได้จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง เฟสที่ 1 เริ่มต้นวันที่ 15 พ.ค. 2565 เป้าหมายเดิน-วิ่งระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน จำนวน 151 ล้านบาท ที่ประชาชนทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ได้ร่วมสร้างสถิติใหม่สะสมระยะทาง 600,000 กิโลเมตร ด้วยเวลาเพียง 6 วัน ทำให้สามารถช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา 60,000 คน แบ่งเป็นระดับชั้น ป.6 ต่อ ม.1 จำนวน 14,500 คน และระดับชั้น ม.3 ต่อ ม.4 หรืออื่นๆ 45,500 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565
ทุนนี้ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานกับโรงเรียน 17,432 แห่งใน 4 สังกัด (สพฐ. , ตชด. , อปท. , สช.) ในการสำรวจสถานะนักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. จำนวน 60,000 คน ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบเพราะต้องเปลี่ยนผ่านช่วงชั้น ในช่วงเปิดเทอมการศึกษาแรกปี 2565 ด้วยข้อมูลเชิงลึกจากครูในพื้นที่ที่ดูแลน้องๆ อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปีการศึกษา ทำให้สามารถพบเด็กกลุ่มเสี่ยงและนำไปสู่การจัดการทุน 151 ล้านบาท จากโครงการลมหายใจเพื่อน้อง ให้กระจายลงไปถึงมือของเด็กๆ อย่างทันท่วงที ช่วยให้น้องๆ กลุ่มนี้ไปต่อในระบบการศึกษาได้
เสียงสะท้อนจากครูผู้ทำงานกับเด็กๆ ในพื้นที่ อาทิ อัญชลี กอมสิน โรงเรียนบ้านโคกใหญ่ อ.ท่าลี่ จ.เลย ซึ่งมีนักเรียนได้รับทุนจำนวน 5 คน กล่าวว่า “เงินก้อนนี้สำหรับบางคนอาจคิดว่าเป็นก้อนเล็กๆ แต่สำหรับเด็กกลุ่มนี้พูดได้ว่าเป็นการต่อลมหายใจให้พวกเขาจริงๆ ทั้งเรื่องชีวิตและการศึกษา” ทำให้ความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบลดลง เด็กไม่ต้องหยุดเรียนไปทำงาน เติมเต็มปากท้อง และดึงพวกเขาให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง
นงลักษณ์ งามใจ โรงเรียนบ้านหนองขาม (ทองงามวิทยา) อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ มีนักเรียนได้รับทุนจำนวน 4 คน กล่าวว่า “เด็กที่ขาดโอกาสเขาเสี่ยงหลุดหายจากระบบได้ตลอด” ปัญหาคือเราไม่มีโรงเรียนมัธยมใกล้เคียง หากอยากเรียนต้องไปนอกหมู่บ้าน ทีนี้พอจบ ป.6 ต้องไปต่อโรงเรียนใหม่ การเดินทางเปลี่ยน ทางไกลขึ้น ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นตามกัน หลายบ้านที่ไม่ไหวเขาก็ถอดใจไม่ส่งลูกเรียนต่อแล้ว
เช่นเดียวกับฝั่งผู้เรียน สิทธิชัย จันธรรรม นักศึกษาชั้น ปวช.1 สาขาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า “เคยคิดว่าต้องออกไปทำงานเก็บเงินก่อนค่อยกลับมาเรียน แต่เท่าที่เคยเห็นคนที่ออกไปแล้วตั้งใจจะกลับมาเรียน มีเพียงไม่กี่คนที่ทำได้” ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่ขยัน แต่การไม่ได้เรียนต่อเนื่องคืออุปสรรคที่ทำให้หมดความกระตือรือร้น กลายเป็นว่าคนที่ออกไปส่วนใหญ่ต้องไปทำงานเต็มตัวและไม่ได้กลับมาเรียนอีก ตอนนี้ตั้งใจแล้วว่าจะเรียนให้จบ ปวส. แล้วไปทำงานเลี้ยงดูตัวเองให้ได้ จึงขอบคุณ ปตท. ที่ช่วยสนับสนุน
สิรภพ สกุลแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนหอวัง ปทุมธานี จ.ปทุมธานี กล่าวว่า “สำหรับครอบครัวอยู่กันแค่สามคน คือปู่ พี่ชาย และตนเอง การที่ปู่มีอาชีพรับจ้างรายวัน ทำให้เส้นทางการศึกษาค่อนข้างไม่มีความแน่นอน” ซึ่งตนตั้งใจว่าจะเรียนหนังสือให้สูงที่สุด เงินทุนจาก ปตท. ที่ได้รับมาจึงช่วยทำให้มีกำลังใจ และช่วยต่อเส้นทางการเรียนของตนให้มีความแน่นอนยิ่งขึ้น
โยษิตา จิตรแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจ่านกร้อง จ.พิษณุโลก เล่าว่า อาศัยอยู่กับยายที่เป็นโรคเบาหวาน ส่วนแม่ทำงานรับจ้างต่างจังหวัด “ขอบคุณ ปตท. ที่มอบทุนลมหายใจเพื่อน้อง ทำให้ยังได้เรียนต่อจนถึงวันนี้” ซึ่งการได้ไปโรงเรียน ได้เรียนหนังสือ ทำให้ตนมีความสุขมาก ได้รู้จักเพื่อนเยอะแยะ ได้ตั้งใจเรียนเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น และมีเป้าหมายในชีวิต โอกาสการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สำหรับเด็กทุกคน
ปตท. ยังดำเนินโครงการลมหายใจเพื่อน้องต่อเนื่องในเฟสที่ 2 ผ่านกิจกรรม PTT Virtual Run “เดิน-วิ่ง 20 ล้านก้าวก๊อดจิ” จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 โดยการเดิน-วิ่งทุกๆ 1 กิโลเมตร จะเท่ากับ 3 ก้าวก๊อดจิ ซึ่งในเฟส 2 นี้เป้าหมายเพื่อจัดตั้ง “กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา” ร่วมกับ กสศ. สำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปัจจัยไม่คาดคิด อาทิ อุบัติเหตุ อาชญากรรมต่างๆ ทั้งต่อครอบครัว และตัวเยาวชน ที่ทำให้มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งก็ยังได้รับความสนใจอย่างมาก ระดมทุนได้ 20 ล้านบาท สรุป 2 เฟสรวมกัน สามารถระดมทุนได้ 171 ล้านบาท
สำหรับศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา เบื้องต้นสามารถช่วยเหลือเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงได้ 302 คน 4 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก 120 คน ยะลา 84 คน ขอนแก่น 77 คน และกรุงเทพฯ 21 คน โดย “ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงสุดออกจากระบบการศึกษา” โดยในกลุ่มนี้มีจำนวนถึงร้อยละ 92.71 อย่างไรก็ตาม “เด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาส่วนใหญ่ประสบสาเหตุที่มีโครงสร้างซับซ้อน กล่าวคือ มีมากกว่า 1 สาเหตุ” โดยสาเหตุอื่นๆ เช่น ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 61.6 อุบัติเหตุ/โรคภัย ร้อยละ 31.45 และสาธารณภัย ร้อยละ 6.95 ทั้งนี้ ร้อยละ 46.69 ของเด็กและเยาวชนที่ได้รับทุน มีปัจจัยเสี่ยง 2 สาเหตุ ส่วนใหญ่คือเศรษฐกิจและครอบครัว
ตัวอย่างของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ สุชาวดี ร่วมรักบุญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านหนองแวงบวรวิทย์ จ.ขอนแก่น ผู้ปกครองทิ้งให้อยู่ในพื้นที่สาธารณะตามลำพังเพื่อไปประกอบอาชีพในต่างพื้นที่ ทิ้งเงินไว้ให้ 70 บาท อาศัยอยู่เพิงเก่าชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง มีลักษณะเปิดโล่งทั้งสี่ด้านไม่มีผนัง มีเพียงผ้าใบขึงปิดเอาไว้ให้เป็นห้อง ต้องนอนบนแคร่เล็กๆ ขนาดกว้างราว 2 ฟุต ไม่มีมุ้ง มีเพียงผ้าห่มบางๆ และเศษผ้าใช้แทนหมอน
ในการให้ความช่วยเหลือ 1.จัดหาที่อยู่ใหม่เพื่อความปลอดภัย เบื้องต้นศูนย์ฯ หาบ้านเช่าใกล้กับโรงเรียนให้อยู่ไปก่อน จนกว่าทางสำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) จะสร้างบ้านพักแบบถาวรแล้วเสร็จ 2.ได้รับทุนการศึกษาต่อเนื่อง 6 เดือน พร้อมประเมินสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ และ 3.สนับสนุนให้แม่ของเด็กได้รับการฝึกอาชีพที่ศูนย์ฝึกอาชีพสตรีรัตนาภา จ.ขอนแก่น
หรือกรณีของ อับดุลมูตอเละ บากา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านบาละ จ.ยะลา เป็นพี่คนโตของน้องๆ 4 คน มีพ่อกับแม่ที่ต้องออกไปทำงานรับจ้างกรีดยางและตัดไม้แลกค่าแรงประมาณวันละ 100 บาท ตั้งแต่ตี 4 ทุกวัน 7 โมงเช้าแม่ของตอเละจะขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับตอเละกับน้องไปส่งที่โรงเรียน แต่บางวันที่งานติดพัน ปลีกเวลา มาไม่ได้ก็จะไม่ได้ไปโรงเรียน และมีหน้าที่ดูแลน้องๆ อยู่บ้าน ที่อยู่อาศัยผุพังไม่มั่นคงแข็งแรง ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ศูนย์ฯ ได้สนับสนุนค่าครองชีพระหว่างเรียน พร้อมประสานกับ อบต. เข้าไปช่วยปรับปรุงสภาพบ้านจนดีขึ้น รวมถึงมีไฟฟ้าใช้ไม่ต้องทำการบ้านโดยใช้แสงไฟฉายอีก เป็นต้น
จากข้อค้นพบเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายๆ หน่วยงาน เข้ามาออกแบบแนวทางรับมือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์หลักคือป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการที่ ปตท. สนับสนุนภารกิจของ กสศ. นั้น ก็ด้วยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง
เพราะเชื่อว่า..การศึกษาคือหนึ่งในรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน