นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือ กบน. มีมติให้ปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีกครั้ง 50 สต./ลิตร มีผลวันที่ 22 ก.พ. เหลือประมาณ 34 บาท/ลิตรหลังจากวันที่ 15 ก.พ. หน้าปั๊มลดเป็นครั้งแรกในกว่า 7 เดือนในราคา 50 สตางค์ต่อลิตร สาเหตุจากราคาตลาดโลกลดลง ส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขยับดีขึ้นสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้ราว 2-3 พันล้านบาท/สัปดาห์ หรือราว 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือน โดยหากราคาตลาดโลกยังลดลงต่อเนื่อง ทาง กบน.ก็จะพิจารณาปรับลดราคาดีเซลผ่านกลไกกองทุนน้ำมันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของน้ำมันดีเซลพรีเมียม จะมีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น จากเดิม มีอัตราสูงกว่าดีเซล 50 สต./ลิตร ก็จะเพิ่มอีก 1 บาท เป็น สูงกว่าดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร ซึ่งผู้ค้าจะขึ้นราคาดีเซลพรีเมียมเท่าใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับการแข่งขันของตลาด โดยจากการมอนิเตอร์การจำหน่ายดีเซล พรีเมียมพบว่ามียอดใช้คงที่ประมาณ 7-9 แสนลิตร/วัน ไม่มีการปรับลดลงแต่อย่างใดแม้จะเก็บเงินกองทุนสูงกว่า แสดงว่ากลุ่มผู้ใช้คือ รถหรูมีศักยภาพ ในการจ่ายเพิ่มในส่วนนี้
นายวิศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับฐานะเงินกองทุนน้ำมันล่าสุด จากการอุดหนุนราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม ยังพบว่า มีฐานะติดลบ ราว 1.08 แสนล้านบาท โดยที่ผ่านมากองทุนฯกู้มาชำระหนี้แก่ผู้ค้าน้ำมันไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาทและกำลังเตรียมแผนกู้เพิ่มอีก 8 หมื่นล้านบาท หากกระทรวงการคลังมีการนำเสนอ ครม. เรื่องหนี้สาธารณะในส่วนนี้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนสถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตลาดโลก ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากยังไม่พ้นช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศทำให้ความต้องการใช้ LPG ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ราคา LPG ตลาดโลก ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยปัจจุบัน กองทุนน้ำมันฯ ได้ใช้เงินเข้าไปอุดหนุนราคาขายปลีก LPG ถัง 15 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 9 บาทต่อกิโลกรัม จากราคาขายปลีก อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ขณะที่ วันที่ 1 มี.ค.นี้ ราคาขายปลีก LPG เพิ่มอีก 15 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ในเดือน มี.ค.นี้ ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาขายปลีกเป็น 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับราคากลุ่มเบนซิน คาดผู้ว่าน้ำมันเตรียมปรับลดลงเร็วๆ นี้ หลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานหรือ กบง. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ชี้นำราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซิน ว่าจะสามารถปรับลดลง ประมาณ 0.90-1.20 บาทต่อลิตร หลัง กบง.เห็นชอบ ปรับนโยบายค่าการตลาดให้ผู้ค้าไม่ต้องช่วยลดค่าการตลาดดีเซลอีกต่อไป เฉลี่ยรวมค่าการตลาดน้ำมัน 2 บาทต่อลิตร หลังจากที่กำหนดนโยบายกำกับให้ค่าการตลาดกลุ่มดีเซลไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร มาตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2564 ขณะเดียวกัน สัญญาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวลงวานนี้ หลังจากกระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยว่า ทางกระทรวงจะทำการจำหน่ายน้ำมัน 26 ล้านบาร์เรลจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ด้วย
อนึ่ง ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ขยายเวลามาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 1.34 บาทต่อลิตร ออกไปอีกจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ประกอบกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนบัญชีน้ำมันมีรายรับประมาณ 516 ล้านบาทต่อวัน (หรือ 14,455 ล้านบาทต่อเดือน) ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนบัญชีน้ำมันมีฐานะติดลบน้อยลง
ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสม โดยปรับค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงกลับสู่สภาวะปกติตามปี 2563 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนน้ำมันมีรายรับในส่วนของน้ำมันดีเซลลดลงเป็นประมาณ 37.23 ล้านบาทต่อวัน (หรือประมาณ 1,117 ล้านบาทต่อเดือน)และจะทำให้ราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันเบนซินปรับลดลง ประมาณ 0.90-1.20 บาทต่อลิตร โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้ค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และกลุ่มน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ เป็นไปตามมติของ กบง.