นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจในต่างประเทศ และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์โลกที่ท้าทายและยังอยู่ในสภาวะเพิ่งฟื้นตัว โดยในปี 2565 ธนาคารสามารถส่งมอบรายได้สุทธิ (Net Total Income) ให้ธนาคารกสิกรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% และปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าท้องถิ่นในต่างประเทศถึง 2.1 ล้านรายทั่วภูมิภาค โดยในปี 2566 ธนาคารกสิกรไทยจะขยายธุรกิจในตลาด AEC+3 อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 (A Regional Bank of Choice) ด้วยการเดินหน้ากลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 ด้านประกอบด้วย 1) การรุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ 2) การขยายฐานลูกค้าที่มุ่งเน้นการใช้บริการในช่องทางดิจิทัล ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร เพื่อต่อยอดสู่การเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินแห่งภูมิภาค และ3) การพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้าถึงบริการของธนาคารได้จำกัด ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัลด้วยข้อมูลทางเลือก
ด้านนายชัช เหลืองอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า สำหรับเป้าหมายและกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแห่งโอกาสในการเติบโตของภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งเน้นขยายธุรกิจในจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และสปป.ลาวด้วยยุทธศาสตร์การเงินผ่านดิจิทัลแบงก์กิ้ง รวมทั้งบริการที่มากกว่าบริการธนาคาร (Beyond Banking)จากการประสานศักยภาพทางเทคโนโลยีและพันธมิตรเพื่อการพัฒนาบริการที่จะช่วยให้ลูกค้าในภูมิภาคนี้มีชีวิตที่ดี พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจยังคงมุ่งเน้นไปที่ประเทศจีน และ AEC โดยในประเทศจีน ธนาคารกสิกรไทยในฐานะธนาคารท้องถิ่นในประเทศจีน มุ่งมั่นที่จะส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าด้วยแนวคิด “Better Me และ Better SMEs” ด้วยการช่วยให้ลูกค้าท้องถิ่นในจีน เข้าถึงสินเชื่อเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาชีวิตและธุรกิจ สำหรับการดูแลลูกค้าท้องถิ่นในประเทศกลุ่ม AEC ทั้งใน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย ธนาคารจะมุ่งเน้นการพัฒนาบริการทางการเงินบนดิจิทัล (Digital FinancialProduct & Service) ที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ ในมุมการสนับสนุนลูกค้าธุรกิจในภูมิภาค ธนาคารจะเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่ายลูกค้าธุรกิจระหว่าง ไทย จีนและ AEC ให้มากยิ่งขึ้น (AEC Connectivity) เพื่อสร้าง Cross Border Value Chain ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถต่อยอดโอกาสทางธุรกิจได้
สำหรับประเทศเวียดนาม เป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญ โดยธนาคารกสิกรไทยได้เข้าไปให้บริการในเวียดนาม ด้วยการสร้าง Digital Lifestyle Solution ผ่านการใช้งาน K PLUS Vietnam เป็นแกนหลัก นอกจากนี้ยังเพิ่มการขยายฐานพันธมิตรท้องถิ่น ผ่านการลงทุนของบริษัท KVision ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทดาวรุ่งที่เวียดนามในหลากหลายธุรกิจ ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพสูง ด้วยจำนวนประชากร 270 ล้านคนธนาคารกสิกรไทยจึงเดินหน้าการทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย โดยปลายปี 2565 ธนาคารได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารแมสเปี้ยนเป็น 67.5% โดยการดำเนินงานต่อจากนี้ ธนาคารจะเน้นการทำ Transformation โดยนำความเชี่ยวชาญของธนาคารแมสเปี้ยน เรื่องความต้องการของคนในท้องถิ่น และความชำนาญเรื่องบริการด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง ของธนาคารกสิกรไทยมาประยุกต์ ต่อยอด และพัฒนาบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ธนาคารแมสเปี้ยนเติบโตเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน East Java และพร้อมรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวต่อไป ผ่านการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่(Corporate) กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (Commercial)และกลุ่มลูกค้ารายย่อย (Retail) เพื่อเป็น 1 ใน 20ธนาคาร ที่ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2570
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี