นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาพลังงานตลาดโลกว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาเริ่มคลี่คลายลงทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG โดย ราคาตลาดจร หรือ SPOT LNG ณ วันนี้อยู่ที่ประมาณ 10.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เมื่อต้นทุนต่ำลง ก็สามารถลดค่าไฟฟ้าได้โดยค่าไฟฟ้า งวดที่ 3 ของปีนี้ (เดือนกันยายน-ธันวาคม) สามารถลดลงได้แน่ๆ 40-50 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต้นๆ แต่ถ้าหากในระยะต่อไป ราคา SPOT LNG ลดลงอีกเหลือประมาณ 9 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และปตท. สามารถซื้อได้ในราคาดังกล่าว ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ 70 สตางค์ต่อหน่วย จากราคาค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย
ส่วนแนวโน้มการผลิตก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.รายงานว่าอยู่ระหว่างเพิ่มกำลังผลิตแหล่ง G1/61 หรือเอราวัณเดิมจะเพิ่มกำลังเป็น 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือนกันยายนนี้ และต้นปี’67จะเพิ่มกำลังผลิตให้ได้เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น การนำเข้า LNG ก็คาดว่าจะลดลงจากที่ ปตท.คาดการณ์ไว้ว่าจะขอนำเข้า 99 ลำ เหลือประมาณ 70 ลำ (ลำละ 60,000 ตัน) และการที่ ราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่า LNG โดยมีราคาที่ประมาณ5-6 เหรียญต่อล้านบีทียู จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้อีก ดังนั้นที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ว่าจะลดค่าไฟฟ้านั้น หากดูตัวเลขก็สามารถทำได้แน่นอน ลดได้อย่างน้อย 50 สตางค์ต่อหน่วย เพราะต้นทุนก๊าซฯโดยรวมถูกลง
ส่วนกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลมีแนวคิดการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังผลิตที่เหมาะสมเพื่อลดค่าครองชีพประชาชนนั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด ซึ่งทางกระทรวงฯจะติดตามและเตรียมทำข้อมูล ว่าจะมีการปรับเปลี่ยน แก้ไขได้อย่างไรบ้าง รวมถึงการปรับแผนพัฒนาไฟฟ้าหรือ PDP จะสามารถทำได้ขนาดไหน ทั้งนี้ ทิศทางพลังงานโลกกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด จึงควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการตลาดพลังงานให้สมดุล และสอดรับกัน หรือพัฒนาเพื่อตอบรับความต้องการต่างๆ ขณะที่พรรคการเมืองเสนอให้เจรจากับภาคเอกชนเรื่องการปรับลดค่าความพร้อมจ่าย (AP) นั้นก็ทำได้แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามพอสมควร ซึ่งต้นทุนค่า AP อยู่ในส่วนของต้นทุนค่าไฟฐานเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ไม่มากเท่ากับต้นทุน LNG ดังนั้นหากบริหารจัดการ LNG ดี ก็จะสามารถลดลงได้ 50-60 สตางค์อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท/ลิตรนั้น จะสิ้นสุดในวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากขึ้นในอัตรานี้ ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้นเป็น 37 บาทต่อลิตรทันที จากราคาปัจจุบัน 32 บาทต่อลิตรและก็ต้องมาพิจารณาว่ากองทุนน้ำมันฯจะเข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง ค่าการตลาดควรเป็นเท่าไร ทั้งนี้ปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะที่ดีขึ้นจากเดิมติดลบสูงสุดเกือบ 1.4 แสนล้าน แต่ขณะนี้เหลือเพียงลบ 72,000 ล้านบาท
วันเดียวกัน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวระหว่างการร่วมงานสัมมนาเรื่อง “การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน” ว่า การที่พรรคร่วมรัฐบาล จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน โดยลดปริมาณสำรองไฟฟ้า จากปัจจุบัน 50% นั้น ส่วนตัวมองว่าปริมาณสำรองที่เหมาะสมคือ 30% หากลดลงเหลือ 20% นับว่าสำรองน้อยมากอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งหากเศรษฐกิจเติบโตการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ปริมาณสำรองจำนวนมากจะลดลงจากปัจจุบัน
“โครงสร้างไฟฟ้าของไทย รัฐเป็นผู้กำหนดจึงเลือกใช้ระบบ PDP ขณะที่หลายประเทศพลังงานมีความมั่นคง จึงใช้ระบบเพาเวอร์พูล หลายประเทศในอาเซียนใช้ระบบนี้อยู่เมื่อไทยใช้ระบบ PDP จนมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิน อาจต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า ระบบ PDP เหมาะสำหรับในยุคพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ อาจต้องเปลี่ยนมาเป็นระบบไฟฟ้าเสรีได้หรือไม่ เพื่อให้ทุกเช้ามีการเสนอราคาซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี เพราะไทยถึงจุดปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิน ไม่มีปัญหาขาดแคลน จึงขึ้นอยู่กับการเลือกใช้แบบไหน” นายไพรินทร์ กล่าว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวยอมรับว่า ราคาพลังงานทดแทนมีความไม่แน่นอน จึงต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และอยากให้ยกเลิกการอุดหนุนราคา อย่างเช่น การส่งเสริมใช้ก๊าซ NGV เมื่อภาครัฐอุดหนุนราคาต่ำมีคนใช้รถ NGV จำนวนมาก แต่พอยกเลิกอุดหนุนปรับราคาสะท้อนต้นทุน ประชาชนเลิกใช้ รถยนต์ NGV เกือบหมดเหลือแต่รถบรรทุก