นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 2 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.0 จุด ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.1% แต่เป็นการเพิ่มที่มีทิศทางการชะลอตัวลง เห็นได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงจากไตรมาสก่อน 0.3%
ทั้งนี้หมวดงานออกแบบและงานระบบ มีการปรับพิ่มขึ้นในส่วนของงานสถาปัตยกรรมสูงสุด 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นการเพิ่มแบบชะลอตัวลง เนื่องจากการมีการลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งงานสถาปัตยกรรมมีสัดส่วน 65.8% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ
สำหรับงานอื่นๆ ที่มีการปรับลดลง ได้แก่ งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีอัตราค่าตอบแทนลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566, หมวดงานออกแบบและงานระบบงานระบบไฟฟ้าและระบบสื่อสาร อัตราค่าตอบแทนลดลง 0.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566, หมวดงานออกแบบและงานระบบงานระบบสุขาภิบาล มีอัตราค่าตอบแทนลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566
ส่วนหมวดราคาวัสดุก่อสร้าง พบว่า วัสดุก่อสร้างที่มีการปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ใน 2 ประเภท ได้แก่ วัสดุประเภทกระเบื้อง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่มขึ้นถึง 12.5% และ 4.6% ตามลำดับ แต่วัสดุประเภทเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาผลิตภัณฑ์คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ มีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ลดลงมากที่สุดถึง 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยเป็นผลมาจากปริมาณอุปทานเหล็กในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบมีการปรับลดตามราคาพลังงาน รวมถึงอาจชะลอจากการซื้อและความต้องการลงทุนของเอกชนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีราคาลดลง แต่หมวดแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาดที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการขาดแคลนช่างฝีมือแรงงานคุณภาพ
ในขณะที่หมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 60.4% ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานนั้น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ราคาเพิ่มขึ้น 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ราคาลดลง 17.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 , ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ราคาลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน,อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ราคาลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566, กระเบื้อง ราคาเพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566
“ภาพรวมดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานไตรมาส 2 ปี 2566 สะท้อนต้นทุนการสร้างที่อยู่อาศัย เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปีก่อนเล็กน้อย และมีแนวโน้มทรงตัวในทิศทางที่ชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ยังมีตัวแปรสำคัญที่ต้องคำนึงถึงทั้งในปัจจุบันและอนาคต คือ ค่าจ้างแรงงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 39.6% ของค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยไตรมาส 2 ปี 2566 ค่าแรงงานเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่าปัจจุบันมาก ก็จะกระทบค่าก่อสร้างบ้านของประชาชน และยังอาจส่งผลไปถึงต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ ด้วย” นายวิชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี