nn ขณะนี้ทั่วโลกกำจับตามอง ภาวะเศรษฐกิจจีนที่กำลังบอบช้ำจากพิษของการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ การว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศจีน ฯลฯ เพราะต้องยอมรับว่าจีนมีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจีนย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแน่นอน สำหรับประเทศไทยนอกจากได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกที่ซบเซาลงแล้ว ยังต้องเจอปัญหาสินค้าจีนมากมายหลากหลายชนิดที่จะทะเข้ามาในประเทศไทยด้วย เนื่องจากสต๊อกล้นตลาดเพราะกำลังซื้อหดตัว จึงต้องหาแหล่งระบายสินค้า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย และที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือสินค้าในกลุ่มเหล็ก ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ทะลักเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยมาตั้งแต่ 5-6 ปีก่อน และยิ่งตอนนี้ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีปัญหา ย่อมจะทำให้เหล็กจากจีนทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นไปอีก
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็ก โดยข้อมูลการบริโภคเหล็กของไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 7.17 ล้านตันใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 7.03 ล้านตัน ในรอบ 5 เดือนแรกของปี อุตสาหกรรมภายในประเทศสามารถผลิตเหล็กจำนวน 2.81 ล้านตันลดลงถึง 14.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้า 4.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสินค้าในประเทศถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากสินค้านำเข้า อัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของผู้ผลิตในประเทศไทย 5 เดือนแรกของปี เฉลี่ยที่ 29% ลดลงจาก 33% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับ 52.3% ซึ่งปัญหาหลักเกิดจากการที่ประเทศไทยยังมีการนำเข้าเหล็กในสัดส่วนที่สูงมากในอัตรา 70% ของการบริโภค และพบว่าการนำเข้าของประเทศไทย มีค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยการนำเข้าของประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับเพียง 22% เท่านั้น และประเทศไทยที่มีอัตราการนำเข้าจากจีนสูงขึ้นถึงกว่า 50%
สินค้าเหล็กสำเร็จรูปที่นำเข้าจากประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตในประเทศส่วนใหญ่เกิดจากการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Circumvention) เช่น สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนหรือสินค้าเหล็กลวดที่มีการเจืออัลลอย หรือการนำเหล็กเคลือบประเภทต่างๆ มาใช้แทนเหล็กเคลือบที่มีมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ดังนั้นสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย จึงได้เรียกร้อง ให้กระทรวงพาณิชย์ บังใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti-Circumvention :AC) เช่นเดียวกับที่ประเทศต่างๆ มีการบังคับใช้ เช่น กรณีสหภาพยุโรปมีการใช้มาตรการ AC กับสินค้าเหล็กเคลือบสังกะสีของจีน หรือกรณีที่สหรัฐใช้มาตรการ AC กับสินค้าเคลือบสังกะสีจากเวียดนาม หรือกรณีที่บราซิล ใช้มาตรการ AC สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอยจากประเทศจีน เป็นต้น
ล่าสุดเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เตรียมเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการฯพิจารณาเปิดการไต่สวนมาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti – Circumvention : AC) หากคณะกรรมการฯ พบว่ามีมูลการนำเข้าสินค้าเหล็กเพื่อหลบเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti – Dumping : AD) หรืออากรตอบโต้การอุดหนุน (CounterVailing Duty : CVD) จะเปิดไต่สวนในทันที ซึ่งมาตรการ AC คือมาตรการตอบโต้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่นำสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD มาผ่านกระบวนการหรือดำเนินการเพื่อหลบเลี่ยงการชำระอากร อาทิ นำสินค้ามาแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อย หรือส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการAD/CVD ผ่านประเทศหรือผู้ส่งออกรายอื่นที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD เป็นต้น หากคณะกรรมการฯ มีมติให้เปิดไต่สวน AC จะถือเป็นเคสแรกในประเทศไทย ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ ในปี 2562 ที่ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้มาตรการ AC เข้ามา ซึ่งต่างจากการเปิดไต่สวนมาตรการ AD ที่ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี