นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เปิดเผยว่า WTO กำหนดจะจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 13 (WTO MC13) ขึ้นที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่26-29 กุมภาพันธ์ 2567 แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีประเด็นใดที่จะเสนอให้รัฐมนตรีเจรจาหรือตัดสินใจในปี 2567 บ้าง โดยคาดว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป การเจรจาจะเร่งเครื่องเร็วมากขึ้น เพื่อให้สามารถหาข้อยุติหรือตกลงกันได้บางเรื่องก่อนรัฐมนตรีการค้าจะพบกัน
สำหรับเรื่องที่สำคัญ เช่น การเจรจาต่อเนื่องเรื่องการอุดหนุนประมง แม้ความตกลงแม่บทจะเจรจาจบไปแล้วในการประชุม MC12 และกำลังอยู่ระหว่างรอให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบัน แต่ก็มีเรื่องที่กำหนดไว้ให้เจรจาต่อเพื่อให้ความตกลงสมบูรณ์ เช่น การอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด การอุดหนุนประมงให้เรือที่ทำการประมงนอกน่านน้ำ การปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนา การทำประมงพื้นบ้าน การแจ้งข้อมูลเรื่องการใช้แรงงานบังคับในเรือประมง เป็นต้น ซึ่งการเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้น และคาดหวังว่าจะเจรจาในสาระจบก่อนการประชุม MC13 ยกเว้นบางประเด็นที่อาจจะต้องให้ระดับการเมืองตัดสินใจ
การเจรจาเรื่องการเกษตร และความมั่นคงทางอาหาร(Food Security) นับแต่ช่วงโควิด-19 มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรื่องการขาดแคลนอาหารกลายเป็นความท้าทายสำคัญด้านการค้า โดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิ (ผลิตอาหารเองไม่พอบริโภค ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร) ที่ประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินค้าเกษตรอาหารหรือสินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้สมาชิก WTO หยิบยกเรื่อง Food Security ขึ้นมาหารือตั้งแต่ปี 2565 จนทำให้มีข้อตัดสินใจของรัฐมนตรีที่กำหนดให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อเนื่อง โดยประเด็นหารือเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกหรือลดอุปสรรคในการเข้าถึงสินค้าเกษตรอาหารของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และประเทศกำลังพัฒนาที่นำเข้าอาหารสุทธิ การจัดสรรสินเชื่อนำเข้าสินค้าเกษตรจากองค์กรทางการเงิน ธนาคารระหว่างประเทศ การช่วยเหลือการพัฒนาภาคเกษตรและอาหาร การประสานนโยบายขององค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกันมากขึ้น เป็นต้น
การเจรจาเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะมีการเจรจาทั้งในกรอบพหุภาคีระหว่างสมาชิก WTO ทุกประเทศ และแบบหลายฝ่าย คือเฉพาะบางประเทศร่วมกัน โดยเวทีพหุภาคีมีการพิจารณาการต่ออายุการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรของ electronic transmission และการเจรจาหัวข้อที่กำหนดแผนงานไว้ เช่น การพัฒนากับการค้าดิจิทัล แต่การเจรจาในแบบหลายฝ่ายมีหัวข้อที่ลงลึกไปกว่าระดับพหุภาคี โดยสมาชิกมีเป้าหมายจัดทำกฎเกณฑ์ e-commerce
ทั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญของ WTO ในการพัฒนากฎระเบียบการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าโลกและบริบทสมัยใหม่ และเป็นหัวข้อที่ FTA หลายฉบับเจรจากันด้วย ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศไม่ต้องการร่วมเจรจา เพราะเห็นว่ากฎระเบียบในประเทศตนยังไม่พร้อม อย่างไรก็ตามสมาชิก WTO ทุกประเทศเห็นความสำคัญของการค้าขายหรือทำธุรกรรมผ่าน e-commerce และระบบดิจิทัล จึงทำให้เรื่องนี้น่าจะมีการเจรจาที่ MC13 และขยายขอบเขตต่อไปในอนาคต
“ในเดือนตุลาคม 2566 จะมีการประชุมระดับเจ้าหน้าอาวุโส (SOM) เพื่อพยายามสรุปความคืบหน้าการหารือเรื่องต่างๆก่อนการประชุมรัฐมนตรี ดังนั้นช่วง 2 เดือนข้างหน้าคาดว่าการเจรจาต่างๆ จะมีความเข้มข้นและลงลึกมากขึ้นอย่างแน่นอน”นางพิมพ์ชนก กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี