นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยว่า สถานการณ์การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในไตรมาส 2 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 53.4% และในช่วง 6 เดือนเพิ่มขึ้น 65.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยชาวต่างชาติที่มีการทำสัญญาซื้อขายก่อนหน้ากลับมารับโอนกรรมสิทธิ์ได้เพิ่มขึ้น และยังมีชาวต่างชาติอีกส่วนหนึ่งที่ซื้อห้องชุดที่สร้างเสร็จจากผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ปรับเพิ่ม14.7% จาก 10.8% ในปี2565 และสัดส่วนมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติก็เพิ่มเป็น 24.5% จาก 20.5%ในปี 2565
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 พบว่าหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ3,563 หน่วย เพิ่มขึ้น 53.4% มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศ 18,083 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 49.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ภาพรวม 6 เดือนแรก ปี 2566 พบว่ามีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 7,338 หน่วย มูลค่า 35,211 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนเป็นมูลค่าสูงสุด 16,992 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 48.3% ของมูลค่าทั้งหมด รองลงมาคือ รัสเซีย 2,556 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.3%ถัดมา คือ สหรัฐอเมริกา 1,289 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.7% สหราชอาณาจักร 1,287 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน 3.7% และพม่า 1,274 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.6% ตามลำดับ
“ผู้ซื้อสัญชาติจีนยังคงเป็นกลุ่มที่มีหน่วยและมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ในไตรมาสนี้สัญชาติพม่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงสุดที่ 7.0 ล้านบาทขณะที่สัญชาติอินเดียมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดขนาดเฉลี่ยใหญ่สุดอยู่ที่ 89.8 ตารางเมตร”
หากพิจารณาลงไปในรายพื้นที่จังหวัดพบว่าในช่วงดังกล่าวคนต่างชาติได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในชลบุรีมาเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วน 43.4% กรุงเทพมหานครเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 37.7% ของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ
ทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 81.1% แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา หรือระหว่างปี 2561-2565 ที่กรุงเทพมหานครมียอดโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติมาเป็นอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 48.8% และ ชลบุรีเป็นอันดับที่ 2 ที่มีสัดส่วนเฉลี่ย 30.8% โดยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2566 ทั้ง2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่ารวมกันสูงถึง 81.1% และ 85.4% ของทั่วประเทศ
“จากการประมวลภาพของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั้งหมด ทำให้เราเห็นได้ว่า ปริมาณทั้งในมิติของจำนวนหน่วย มูลค่า ฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนแล้ว แต่ยังคงต่ำกว่าช่วงที่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของCOVID-19 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนการซื้อขายส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า การซื้อขายห้องชุดที่ผ่านมาเป็นการขายได้จริง สะท้อนให้เห็นจากภาวะการโอนกรรมสิทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าว