นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เข้าพบแสดงความยินดีกับนายภูมิธรรม เวชยชัย ในวาระโอกาสได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์คนใหม่ พร้อมประชุมหารือและข้อเสนอร่วมกับคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัด โดย ส.อ.ท. ได้นำเสนอข้อเสนอต่างๆ ต่อรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ มี 4 ข้อดังนี้ 1.สนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศ/ประเทศกับคู่ค้าใหม่ๆ เพื่อขยายโอกาสการค้าและการลงทุนของไทย รวมถึงขอให้เร่งการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อเป็นการช่วยเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจา FTA ของไทย
2.ขอให้เจรจากับประเทศคู่ค้าที่จะออกมาตรการทางการค้าใหม่ ขอให้มีระยะเวลาให้ผู้ส่งออกได้เตรียมความพร้อม (Grace period) ก่อนจะบังคับใช้ 3.สนับสนุนให้มีการจัดทำความร่วมมือในระดับเมือง จังหวัด รวมถึงการจัดทำแผนการส่งเสริมการตลาดในต่างประเทศในสาขาอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ 4.อำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน และการจัดตั้งศูนย์ OSS (One Stop Service) ในจังหวัดที่มีการค้าขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
“ทั้งนี้ ส.อ.ท. และกระทรวงพาณิชย์ จะทำงานเชิงรุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดส่งออกทั้งในประเทศและต่างประเทศ”นายเกรียงไกรกล่าว
ด้านนายนิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ในส่วนของความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก (Thailand-EU Comprehensive Partnership and Cooperation Agreement : Thai-EU PCA) หรือ PCA เป็นกรอบความตกลงที่ไทยจัดทำร่วมกับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก EU เพื่อเป็นพื้นฐานในการขยายโอกาสความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่างๆ ให้มีทิศทางและแบบแผนในระยะยาว บนหลักการที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันทั้งในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม
สำหรับความตกลงฯนี้จะนำไปสู่การดำเนินความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นหุ้นส่วนใกล้ชิดระหว่างไทยกับ EU ช่วยเสริมสร้างมาตรฐานทางการค้าที่ดีของไทยผ่านความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงเป็นแผนงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ไทย-EUอีกด้วย
“ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ PCA เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าของอุตสาหกรรมไทยจากการเรียนรู้แนวทางการพัฒนามาตรฐานสินค้าของไทยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าของ EU เช่น การถ่ายทอดแนวทางปฏิบัติที่ดีจาก EU เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติของไทย การสร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานสินค้า เกษตร ปศุสัตว์ ประมงเพื่อพัฒนาสินค้าการเกษตร เป็นต้น” นายนิลสุวรรณกล่าว
สหภาพยุโรป หรือ EU เป็นกลุ่มประเทศที่มีรัฐสมาชิกรวม 27 ประเทศ จึงเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกและตลาดสำคัญของไทย ส่งผลให้ GDP ของ EU โดยรวมสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และจีน มูลค่าอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 612.1 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ EU ยังเป็นตลาดคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 5 ของไทย โดยไทยมีมูลค่าการค้าระหว่างไทย-EU ในปี 2565มากกว่า 41,000 ล้านบาท
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี