ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่ได้ดึงผู้ประกอบการ ทั้งผู้ผลิตผู้จำหน่ายสินค้า-บริการ และแพลตฟอร์ม ลดราคาสินค้าและบริการ รวมกว่า 150,000 รายการหนึ่งในหมวดสินค้าที่นำมาลดราคา คือ ปุ๋ย โดยแม้ในปีนี้ราคาปุ๋ยจะปรับลดลงมามากแล้วเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ราคาก็ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง ซึ่งเป็นไปตามภาวะราคาในตลาดโลกดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนลงส่วนหนึ่ง
กรมจึงร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อมโยงปุ๋ยจากโรงงานผู้ผลิต/ผู้นำเข้ามาจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ผ่านสถาบันเกษตรกร แถมให้ส่วนลดกระสอบละ 10-50 บาทโดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย
โรงงานผู้ผลิต/ผู้นำเข้าที่เข้าร่วมโครงการนี้มี 26 ราย ลดราคาปุ๋ยทั้งหมด 64 สูตร 144 รายการอาทิ แม่ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) แม่ปุ๋ยฟอสเฟต(18-46-0) แม่ปุ๋ยโพแทสเซียม (0-0-60) ปุ๋ยสูตร16-20-0 ปุ๋ยสูตร 21-0-0 และปุ๋ยสูตร 15-15-15เป็นต้น รวมปริมาณ 3.04 ล้านกระสอบ เกษตรกรสามารถเข้าไปดูรายละเอียดสูตรปุ๋ย ยี่ห้อ และราคาส่วนลดในโครงการนี้ทางเว็บไซต์กรมการค้าภายใน (https://www.dit.go.th) และสามารถสั่งซื้อผ่านสถาบันเกษตรกรที่ตนเป็นสมาชิก เช่น สหกรณ์การเกษตร ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแปลงใหญ่ จนถึงวันที่31 ธันวาคม 2566 โดยสถาบันเกษตรกรจะเป็นผู้รวบรวมยอดการสั่งซื้อแจ้งไปยังสำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์อำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ในแต่ละพื้นที่ จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอน การประสานงานระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการค้าภายใน และสมาคมปุ๋ยที่เกี่ยวข้อง ที่จะจัดจำหน่ายปุ๋ยให้ตามที่สั่งซื้อ
สำหรับเรื่องการขนส่งปุ๋ย กรมได้ประสานสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย ให้ช่วยให้คำแนะนำ อำนวยความสะดวก ตลอดจนจัดส่งปุ๋ยไปยังสถาบันเกษตรกรให้ในราคาพิเศษ กรณีที่ไม่สามารถจัดหารถบรรทุกไปรับปุ๋ยจากหน้าโรงงานได้เอง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1-5 ตุลาคม 2566 มีสถาบันเกษตรกรซื้อปุ๋ยลดราคาจากโรงงานผู้ผลิต/ผู้นำเข้าแล้วจำนวน 10 แห่ง รวม 10,389 กระสอบ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์อำเภอสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือกรมการค้าภายใน
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กล่าวว่า ทางด้านการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และไก่ไข่ ล่าสุดคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและไก่ไข่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การขอรับสนับสนุนค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ในอัตราไม่เกิน 3% ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยไม่เกิน 5,000 ตัว และผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย ไม่เกิน 100,000 ตัว มีระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน กรอบวงเงินกู้ยืมรายละไม่เกิน 10 ล้านบาทแล้ว
โดยเกษตรกรที่สนใจต้องขึ้นทะเบียนการเลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดและได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงสุกร หรือไก่ไข่ จากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ และชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้น ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 สิงหาคม2566 ให้กับธนาคารเรียบร้อยแล้ว โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่น ณ กองส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตร 2 กรมการค้าภายใน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม-30 พฤศจิกายน 2566
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี