ภารกิจลุล่วง! ‘THEOS-2’ทะยานสู่อวกาศเรียบร้อย ขั้นต่อไปรอปรับวงโคจร-ทดสอบกล้อง
วันที่ 9 ตุลาคม 2566 ความคืบหน้าการส่งดาวเทียม THEOS-2 ด้วยจรวด VEGA Flight VV23 ของ Arianespace ณ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของ GISTDA ตั้งแต่เวลาประมาณ 08.00 น. โดยผู้บรรยายที่ประจำอยู่ ณ ห้องควบคุมที่ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา เล่าว่า ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา บรรยากาศค่อนข้างแจ่มใส ท้องฟ้าเปิด จึงหวังว่านบรรยากาศจะเป็นใจให้สามารถส่งดาวเทียมได้สำเร็จ โดยนอกจากดาวเทียม THEOS-2 ของไทยแล้ว ยังมีจะมีดาวเทียม FORMOSAT-7R ของไต้หวัน และดาวเทียมอีก 10 ดวง ของ ESA หรือองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป (EU) ร่วมเดินทางไปด้วย
สำหรับดาวเทียม THEOS-2 ใช้เวลาสร้าง 3 ปี เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมที่จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 621 กิโลเมตรจากพื้นโลก มีรอบโคจรซ้ำวงโคจรเดิมทุกๆ 26 วัน เมื่อดาวเทียมได้รับคำสั่งถ่ายภาพและปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อดาวเทียมเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ติดต่อ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี ดาวเทียมก็จะส่งข้อมูลภาพถ่ายลงมายังสถานีรับสัญญาณ จากนั้นข้อมูลจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และประมวลผล เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ก็ทำการส่งข้อมูลภาพไปยังผู้ขอใช้ข้อมูล
ดาวเทียม THEOS-2 เป็นโครงการต่อยอดจากดาวเทียม THEOS ที่ปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่เมื่อปี 2551 โดยความพิเศษของดาวเทียม THEOS-2 คือสามารถถ่ายภาพที่ความละเอียด 50x50 ซม. ถือว่าละเอียดสูงมาก ซึ่งจะมีประโยชน์ในการทำแผนที่ และสามารถต่อยอดไปได้ในการบริหารจัดการหลายด้าน ทั้งการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการเมืองโดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน การติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
กระทั่งเวลา 08.36 น. วันที่ 9 ต.ค. 2566 ตามเวลาประเทศไทย หรือ 22.36 น. ของวันที่ 8 ต.ค. 2566 ตามเวลาของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา หลังที่ต้องเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในวันที่ 7 ต.ค. 2566 ในที่สุดจรวด VEGA Flight VV23 ก็ได้ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยมีเจ้าหน้าที่ท่าอวกาศยานและผู้เกี่ยวข้องกับดาวเทียมแต่ละดวงร่วมลุ้น เบื้องต้นสถานการณ์ยังเป็นปกติ ละคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 50 นาที ดาวเทียมก็จะถูกปล่อยออกจากตัวจรวด และจะต้องใช้เวลา 2-3 วันในการปรับวงโคจรให้ดาวเทียมทำงานได้ตามความสูงที่กำหนดไว้ และอีก 1-2 เดือน เพื่อทดสอบคุณภาพของภาพถ่ายจากกล้อง (In Orbit Test)
เวลา 09.31 น. วันที่ 9 ต.ค. 2566 ตามเวลาประเทศไทย หรือ 23.31 น. ของวันที่ 8 ต.ค. 2566 ตามเวลาของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา เจ้าหน้าที่ในห้องควบคุมต่างปรบมือพร้อมกันด้วยความดีใจ เมื่อดาวเทียมถูกแยกออกจากจรวดและเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากนั้นในเวลาประมาณ 10.00 น. จะมีการเริ่มส่งและรับสัญญาณดาวเทียม THEOS-2 เป็นครั้งแรก ณ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมศรีราชา จ.ชลบุรี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี