นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่าภาพรวมทิศทางการดำเนินธุรกิจปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซ หลัง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. สามารถเข้าพื้นที่แปลง จี 1/61 (เอราวัณ) สามารถผลิตก๊าซเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และตามแผนจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในเดือนเม.ย. 2567 ขณะเดียวกัน เทอมินอลแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 ขนาด 7.5 ล้านตัน ก็เสร็จตามแผน ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถรองรับแอลเอ็นจี รวม 19 ล้านตัน ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของกลุ่ม ปตท. สามารถทำได้ดีกว่าแผน ปัจจุบันกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 3,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น ปตท.ได้ปรับเป้ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 12 กิกะวัตต์ เพิ่มเป็น 15 กิกะวัตต์ ภายในปี’73
นายอรรถพลกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี’66ขณะที่ค่าการกลั่นยังทรงตัวในระดับที่ดี แม้ว่า จะต่ำกว่าปี’65 แต่นับว่า ดีกว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งผลประกอบการของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ผูกกับราคาน้ำมัน ทำให้ผลประกอบการยังเติบโตขึ้น โดยยอดขายของปตท.ในปีนี้ คาดปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เพราะในปี’65 ยังมีโควิด แต่ปีนี้โควิดไม่เต็มปี ส่งผลให้ยอดขายปีนี้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าพัฒนาธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ให้เป็น LNG Regional Hub ของภูมิภาค โดยขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานในการรองรับการดำเนินการพร้อมแล้วมีสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Receiving Terminal จำนวน 2 แห่ง ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งมีกำลังแปรสภาพ LNG รวม 19 ล้านตันต่อปีโดยเป้าหมายของกลุ่ม ปตท. จะเพิ่มปริมาณการค้า LNG ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ในปี ค.ศ. 2030 หรือ ปี พ.ศ. 2573 โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจฯ ขึ้นมารองรับ ซึ่งจะมีการจำหน่ายในลักษณะนำเข้า LNG แล้วกระจายจำหน่าย LNG ในภูมิภาค เช่น จีนตอนใต้ กัมพูชา ด้วยระบบขนส่งทางรถยนต์ และขนส่งทางเรือขนส่ง LNG ขนาดเล็ก ในขณะเดียวกันหน่วยธุรกิจฯ จะเร่งขยายการจำหน่าย LNG ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า หรือกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ เพื่อใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงรูปแบบเดิม ซึ่งจากการที่ LNG เป็นเชื้อเพลิงสะอาด และราคาสามารถแข่งขันได้กับน้ำมัน ประกอบกับทั่วโลกมีแผนลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ จึงเชื่อมั่นว่าความนิยม LNG จะมีเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ หากความต้องการใช้ LNG ในประเทศพุ่งสูงขึ้นก็จะส่งผลให้ค่าแปรสภาพ LNG ซึ่งเป็นต้นทุนต่อหน่วยและมีการคำนวณรวมอยู่ในโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงด้วย นับว่าเป็นผลดีต่อประชาชน โดยล่าสุด ปตท.ได้ซื้อพื้นที่ติดกับสถานี LNG แห่งที่ 2 ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ 160 ไร่ เพื่อรองรับโรงงานที่จะมาใช้ความเย็นจากการแปรสภาพ LNG ซึ่งมีหลายโรงงานให้ความสนใจ เช่นระบบโรงไฟฟ้าของ GPSC บริษัทที่ให้บริการ cloud solutions ระบบโรงแยกก๊าซ รวมทั้งโรงงานอื่นๆ ที่ต้องการใช้ความเย็นนี้ไปลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าลง ซึ่งขณะนี้ยังมีพื้นที่เหลือรองรับองค์กรต่างๆ ที่มีความต้องการใช้ระบบนี้เช่นกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี