นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร (กม.) ว่า ในส่วนของงานสัญญาที่ 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาตามที่มีการแก้ไขปรับปรุงไปแล้ว โดยคาดว่า จะสามารถลงนามสัญญากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ในฐานะผู้รับจ้างได้ภายในพฤศจิกายน 2566 ก่อนที่จะออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการก่อสร้างสถานีอยุธยานั้น ขณะนี้การจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้ผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอรายงานไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศประมาณ 9 หน่วยงาน และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
“ขณะนี้ ปัญหาการก่อสร้างสถานีอยุธยายังไม่ได้ข้อยุติ ร.ฟ.ท. จะยังไม่ดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา แต่เมื่อ ร.ฟ.ท.ลงนามสัญญากับผู้รับจ้างแล้ว ก็จะให้ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งไปก่อน”
ในส่วนของสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ยังมีประเด็นปัญหาการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา) นั้น อยู่ระหว่างการเจรจากับเอกชนผู้รับจ้าง จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2566 ล่าสุด มีแนวโน้มว่า จะให้ ร.ฟ.ท. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง เพื่อไม่ให้โครงการมีความล่าช้า ทั้งนี้ จากการหารือกับเอกชนในเบื้องต้น ถึงแนวทางดังกล่าว ทางภาคเอกชนไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนงบประมาณจะมาจากแหล่งใดนั้น จะต้องมาพิจารณาคำนวณอีกครั้ง อาทิ การใช้งบประมาณบางส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือบางส่วนจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรือหากจะต้องใช้เงินกู้ และอาจจะต้องเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติเพิ่มกรอบวงเงินเพื่อให้ ร.ฟ.ท. นำมาดำเนินการ และการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการต่อไป โดยคาดว่า จะเสนอ ครม. ได้ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟไทย-จีนระยะที่ 1 นั้น คาดว่า จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2571 หรือเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี