นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานของไทย เกิดจากกฎหมายที่กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ กฎหมายที่มีอยู่อย่าง พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่เพียงพอในการบริหารราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับประชาชน อาทิ ประเด็นภาษีที่ประชาชนโดนเรียกเก็บซับซ้อน ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ขณะที่เนื้อน้ำมันราคาต้นทุนจริงอยู่ที่ระดับ 21 บาทต่อลิตรเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายเสร็จแล้ว รอเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะสามารถบังคับใช้ได้หลังปีใหม่
“ยืนยันกฎหมายบริหารโครงสร้างราคาน้ำมันฉบับนี้ จะมีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน กลไกลยังคงเป็นการค้าเสรี แต่จะมีกรอบควบคุมด้านราคา กำหนดเพดานภาษี ความจำเป็นในการผสมแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซลที่อดีตราคาถูก แต่ปัจจุบันราคาอยู่ในระดับสูง และใช้เงินกองทุนฯบริหารจัดการ โดยมีกระทรวงพลังงานเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด เบื้องต้นจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง โดยจะมีการหารือกับ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปด้านภาษี ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายฉบับใหม่ต่อไป” นายพีระพันธุ์กล่าว
นายพีระพันธ์ุกล่าวอีกว่า โครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่จัดเก็บอยู่ในขณะนี้สูงเกินไปไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสร้างภาระให้กับผู้ใช้ จึงต้องออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อดึงอำนาจมาให้กระทรวงพลังงานสามารถกำหนดเพดานอัตราภาษีน้ำมัน โดยจะยกเลิก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพราะต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา การดูแลราคาน้ำมันใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาเดียวในการอุดหนุนราคา ซึ่งกรณีของน้ำมันดีเซล มีโครงสร้างภาษีที่จัดเก็บอยู่รวม 6.50 บาท/ลิตร จากราคาขายปลีกอยู่ที่ 33 บาท เมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ คือ สิงคโปร์ จัดเก็บอยู่ 5.50 บาท/ลิตรและเวียดนาม จัดเก็บอยู่ 1.70 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศเหล่านี้มีค่าครองชีพที่สูงกว่าไทยหลายเท่า แต่ยังเก็บภาษีที่ต่ำกว่า
“การดึงอำนาจมาให้พลังงานกำหนดเพดานภาษีเอง จะดำเนินการผ่านกลไกของคณะกรรมการ ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธาน ซึ่งจะช่วยให้การดูแลราคาน้ำมันในประเทศมีความเหมาะสมมากขึ้น จากเดิมที่การเก็บภาษีน้ำมันเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศแต่จากนี้ไปต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนและการเงินการคลังของประเทศควบคู่กันไป โดยเพดานภาษีน้ำมันจะต้องปรับขึ้นและลงได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา”
ส่วนมาตรการดูแลราคาพลังงานทั้งการตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม2567 และตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2567 เป็นมาตรการเพื่อดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนและลดภาระให้กับภาคเอกชน ยืนยันว่าไม่กระทบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพราะไม่ใช่การรับภาระหนี้แทนแต่เป็นการชะลอหนี้ให้กับประชาชน โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีความต้องการช่วยเหลือประชาชนเช่นกัน ซึ่งในส่วนของค่าไฟ กฟผ.จะได้รับเงินคืนบางส่วน ขณะที่การดูแลดีเซลจะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าดูแลเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท
ด้านนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท.พร้อมดูแลประชาชนด้วยการชะลอค่าไฟเชื้อเพลิงที่รับภาระงวดปลายปี 2566 ยืนยันไม่กระทบฐานะการเงิน ตลอดจนผลประกอบการปีนี้อย่างไรก็ตาม ในการดูแลค่าไฟครั้งนี้ วงเงินดูแลประชาชนส่วนใหญ่ ทาง กฟผ.เป็นผู้รับภาระ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของความคืบหน้าการทบทวนธุรกิจของปตท. หรือ revisit คาดจะมีความชัดเจนเดือนสิงหาคมนี้ตามที่ได้ประกาศไว้ โดยจะมีการเสนอแผนทั้งหมดเข้าสู่คณะกรรมการ(บอร์ด) ปตท. ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนจะมีการเพิ่มหรือยุบธุรกิจส่วนใดนั้นขอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี