นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2568อยู่ที่ 93.4 เพิ่มขึ้นจาก 91.6 ในเดือนมกราคม 2568ซึ่งเป็นผลจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาที่ 2.00% ช่วยลดต้นทุนทางการเงิน และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ รวมถึงช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งการขยายเวลามาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดเข้าร่วมมาตรการ 746,912 บัญชี (ณ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568) และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ Easy E-Receipt 2.0 (อีซี่ อี-รีซีท) และ โครงการเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลดีต่อยอดขายสินค้า และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างต่างๆ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
ส่วนภาคการท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม วันที่ 1 ม.ค.-26 ก.พ. 2568 มากกว่า 6 ล้านคน ขยายตัว 10.29% การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงการค้าชายแดนที่ขยายตัวได้ดี โดยเดือน ม.ค. 2568 มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมกว่า 1.45 แสนล้านบาท ขยายตัว 2.7%
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมามีปัจจัยลบจากการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ราคาถูกจากจีนเข้ามาแข่งขันมากขึ้น ประกอบกับรถที่ส่งออกบางรุ่นกำลังจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ ซึ่งในเดือนมกราคม 2568 มียอดการส่งออกลดลง 24.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียม เป็นต้นขณะที่สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงกระทบห่วงโซ่อุปทานและต้นทุนการผลิต เช่น น้ำมันปาล์ม ยางพารา ฯลฯ อีกทั้งยังมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวน กระทบต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ รวมถึงมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้าจากจีนทะลักเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้น
ด้าน ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าวว่า สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.6 เพิ่มขึ้นจาก 96.2 ในเดือนมกราคม 2568 ปัจจัยสนับสนุนคาดว่ามาจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาทเฟส 3 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 รวมทั้งจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริม
การท่องเที่ยวผ่านโครงการ Thailand Summer Festivals งานมหาสงกรานต์ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ มีความกังวลในเรื่องสงครามการค้ารอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นราคาสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะในสินค้าเหล็ก และอะลูมิเนียมที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 25%ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 และแนวโน้มสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อและยังไม่มีข้อสรุปที่นำไปสู่สันติภาพอาจกลายเป็นปัจจัยเร่งให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างสู่ระดับโลก
ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 4 ข้อ 1.ขอให้ภาครัฐเร่งกำหนดยุทธศาสตร์และแผนเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมทั้งการเจรจาต่อรองการค้าในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างกัน 2.ขอสนับสนุนรัฐบาลในการออกมาตรการช่วยค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถกระบะเชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในประเทศ รักษาการจ้างงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือในการทำมาหากิน 3.ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและพัฒนาระบบการยกขนถ่ายตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ในโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Single Rail Transfer Operation : SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกสินค้า 4.ขอความร่วมมือมีการสนับสนุนใช้สินค้าที่ขึ้นทะเบียน Made in Thailand หรือ MIT ในส่วนนี้จะทำให้งบประมาณของภาครัฐไม่ไหลออกสู่นอกประเทศและเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศและเกิดการจ้างงานมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี