นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2568 อยู่ที่ระดับ 96.18 หดตัว 3.91% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.01% โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาคการผลิต ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูงส่งผลให้การบริโภคเอกชนยังคงชะลอตัว นอกจากนี้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่เก็บภาษีเพิ่มขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการที่สินค้าประเทศจีนทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้การท่องเที่ยวยังคงเป็นปัจจัยบวกกับภาคเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับอานิสงส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะเดียวกันการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าส่งออกรวมเพิ่มขึ้น 14.0% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำอาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) ขยายตัว 17.1%โดยสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
นายภาสกร กล่าวว่า ระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เดือนมีนาคม 2568 “ส่งสัญญาณปกติเบื้องต้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะ 4-6 เดือนข้างหน้า” โดยปัจจัยภายในประเทศอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ตามความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม และความเชื่อมั่นทางธุรกิจ มีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ด้านปัจจัยต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ปกติเบื้องต้นตามการขยายตัวของความเชื่อมั่นทางธุรกิจและแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่วนการผลิตยูโรโซนอยู่ในภาวะเฝ้าระวังลดลงตามผลผลิตที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้น
“จากดัชนี MPI ที่ปรับลดลง สศอ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้เดินหน้าดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดเป้าหมายมาตรการสนับสนุนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว รวมถึงโครงการเร่งด่วนให้เกิดผลเร็ว (Quick Win) ในอุตสาหกรรม 9 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สศอ.ได้สนับสนุนการสร้างความพร้อมของระบบนิเวศข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ด้านความร่วมมือเชิงวิชาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และสถาบันยานยนต์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย หวังกระตุ้นดัชนี MPI ให้กลับมาฟื้นตัวได้ รวมถึงตอบรับนโยบายนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ช่วยพลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะเพิ่มแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มากขึ้นต่อไป”นายภาสกร กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนี MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำตาล ขยายตัว 4.70% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ขยายตัว 5.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัว 20.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ลดลง 12.71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ลดลง 7.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำมันปาล์ม ลดลง 28.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี