วันที่ 21 เมษายน 2025 สหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) ขั้นสุดท้ายต่อแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทย การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนของไทยไปสหรัฐฯ ที่เติบโตกว่า 47 เท่า ในช่วงปี 2015 – 2023 เป็นผลพวงมาจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนมายังไทย ส่งผลให้สหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่าจีนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อหลบเลี่ยงภาษีในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และนำมาสู่การไต่สวนข้อร้องเรียนการทุ่มตลาดและการอุดหนุนของไทยมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 จนกระทั่งในช่วง ตุลาคม - พฤศจิกายน 2024 ได้ประกาศอัตราภาษี AD/CVD ขั้นต้น ก่อนที่จะประกาศภาษี AD/CVD ขั้นสุดท้ายในวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา
โดยภาษี AD/CVD ขั้นสุดท้ายที่ไทยถูกเรียกเก็บมีอัตรารวมสูงถึง 375.19% – 972.23% สูงกว่าอัตราภาษีที่ประกาศขั้นต้นตัวอย่างเช่น บริษัท ซันไชน์ อิเลคทริคอล และไท่ฮั้ว นิว เอ็นเนอร์ยี ถูกเรียกเก็บภาษีขั้นสุดท้ายในอัตราสูงสุดถึง 972.23% จากขั้นต้นที่ถูกเรียกเก็บที่ 189.20% ขณะที่บริษัทอื่นๆของไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 375.19% จากขั้นต้นที่ถูกเรียกเก็บที่ 80.72% การถูกเรียกเก็บ AD/CVD จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงดังกล่าวจะกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนที่สำคัญของไทย โดยไทยพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ราว 90% ของมูลค่าการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนทั้งหมด
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC ) ประเมินการส่งออกแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนจากไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มหดตัวใกล้ศูนย์ในช่วงปี 2026 จากปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน คือ 1.ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา เมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตในเอเชียที่ไม่ได้ถูกเก็บภาษีจากการที่ไม่โดนข้อกล่าวหาว่ามีการอุดหนุนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนจากจีนเพื่อส่งออก เช่นลาว, อินโดนีเซีย, อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงเสียเปรียบด้านอัตราภาษีเมื่อเทียบกับมาเลเซียและเวียดนาม ซึ่งถูกเก็บภาษีขั้นต่ำเพียง 14.64% และ 120.69% ขณะที่ไทยอยู่ที่ 375.19% แม้แต่บริษัททั่วไปยังต้องเผชิญภาษีสูงกว่ามาเลเซียถึงกว่า 10 เท่า
2.ผลกระทบจากภาษีขั้นต้นได้เริ่มส่งผลชัดเจนแล้วโดยตั้งแต่เดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2024 ที่เริ่มบังคับใช้ภาษี AD/CVD ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ อย่างรุนแรง จาก 28% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024 เหลือเพียง 6% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 ขณะที่คู่แข่งอย่างอินโดนีเซียขยับขึ้นจาก 2% เป็น 16% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกของปี 2025 หดตัว 52%YOY เหลือเพียง 12,623 ล้านบาทซึ่งอัตราภาษีขั้นสุดท้ายที่สูงกว่าขั้นต้นมาก จะทำให้การส่งออกไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มหายไปเกือบทั้งหมดภายในปี 2026
SCB EIC มองว่าผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และชิ้นส่วนสามารถดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ผ่าน 3 แนวทาง ดังนี้ 1.การเข้าไปเป็น Supplier สินค้าขั้นกลาง ให้กับโรงงานผลิตโซลาร์เซลล์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องสงครามการค้าของสหรัฐฯ ต่ำ เช่น การผลิตชิ้นส่วนกลางน้ำส่งให้โรงงานในอินเดียเพื่อประกอบเป็นแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 2.เร่งขยายตลาดการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โดดเด่น เช่น อินเดียประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มทวีปยุโรปและออสเตรเลีย 3.ขยายรายได้ไปในธุรกิจผลิตพลังงานสะอาดทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยอาศัยความได้เปรียบเชิงต้นทุนและประสบการณ์ในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาดเพื่อขยายรายได้
ภาครัฐควรเร่งปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับบริบทการค้าระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการคัดกรองและตรวจสอบโรงงานที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยให้ดำเนินการตามกฎระเบียบส่งเสริมการลงทุนของไทย กฎระเบียบการค้าของโลกและประเทศคู่ค้า รวมถึงการติดตามโครงการที่อาจถูกมองว่าเป็น “ฐานการผลิตทางอ้อม” ของประเทศคู่ขัดแย้ง เช่น จีน เพื่อให้สามารถตรวจสอบการผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของไทยและกฎระเบียบการค้าของประเทศคู่ขัดแย้ง ซึ่งจะช่วยป้องกันการนำไปสู่การตกเป็นเป้าของมาตรการกีดกันทางการค้าในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี