การเสวนา “การสร้างเมืองภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน” ในงาน Sustainability Week Asia 2025 ครั้งที่ 4 จัดโดย “ดิ อีโคโนมิสต์ อิมแพค” ที่กรุงเทพฯ ผู้เข้าร่วมอภิปรายจากนานาชาติได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการนำแนวทางต่างๆ มาสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในเขตเมืองของประเทศในเอเชีย โดยผู้แทนจากบริษัท ดาว (Dow) ซึ่งเป็นผู้นำด้านวัสดุศาสตร์และบรรจุภัณฑ์ ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีการรีไซเคิลขั้นสูงในการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการสนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยผู้ร่วมเสวนาคนอื่นๆ ต่างเห็นพ้องกันว่า นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความร่วมแรงร่วมใจจากชุมชนแล้ว การมีนโยบายที่สนับสนุนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชาติและการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนในอนาคต
นายบัมบัง จันดรา รองประธานฝ่ายธุรกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ธุรกิจบรรจุภัณฑ์และพลาสติกชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ดาว (Dow) กล่าวในงานเสวนาว่า การเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเส้นตรงที่ใช้ทรัพยากรแล้วทิ้ง ไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเป็นเรื่องท้าทาย โดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่ก้าวหน้า นโยบายการจัดการขยะแบบบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงนี้
นายบัมบัง กล่าวว่า ตัวอย่างธุรกิจคัดแยกขยะในจีนที่ใช้ “ถังขยะอัจฉริยะ” หรือ “Smart Bin” ซึ่งสามารถระบุและชั่งน้ำหนักขยะ คัดแยก และตีราคาขยะเป็นเงิน โดยเครดิตการซื้อขายขยะจะส่งตรงไปยังบัญชีของเจ้าของขยะผ่านแอปพลิเคชัน นอกจากจะสร้างมูลค่าให้ขยะรีไซเคิลแล้ว ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยมีการติดตั้งถังขยะอัจฉริยะประมาณ 31,000 ถังใน 38 เมืองใหญ่ของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง และกวางโจว ซึ่งความสำเร็จของ Smart Bin แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มอัตราการเก็บและคัดแยกขยะ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดการขยะ
นายบัมบัง กล่าวว่า บริษัท ดาว (Dow) ได้ใช้ประโยชน์จากถังขยะอัจฉริยะนี้ในการตรวจสอบย้อนกลับวัตถุดิบที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเชิงกลขั้นสูง เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย โดยผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกรีไซเคิลของ Dow สามารถรีไซเคิลได้แบบเดียวกับเม็ดพลาสติกที่มีโครงสร้างชั้นเดียว (single pellet) และยังคงประสิทธิภาพตามที่ต้องการ ซึ่งการผลิตและใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจะช่วยลดขยะพลาสติก ลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ ลดการใช้พลังงาน และลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ทั้งนี้ในการสนับสนุนแนวทางถังขยะอัจฉริยะของบริษัท ดาว (Dow) เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกไปจนถึงผู้ประกอบการรีไซเคิล เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและผลักดันเป้าหมายด้านความยั่งยืน
นางแซนดี้ คูมาร์ จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) สำนักงานระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า ความสำคัญของการกำหนดกรอบการทำงานระดับชาติ โดยสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันนำเทคโนโลยีและแนวทางใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการกับปัญหามลพิษจากขยะ นางแซนดี้ยังกล่าวถึงเครื่องมือ Waste Wise Cities Tool (WaCT) ของสหประชาชาติซึ่งมี 7 ขั้นตอนในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะมูลฝอยชุมชน ตั้งแต่การเก็บรวบรวมไปจนถึงการจัดการในโรงงาน ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างเมืองเศรษฐกิจหมุนเวียน
นางโอลิเวีย หว่อง ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม บริษัทขนส่ง MTR Corporation ของฮ่องกง กล่าวว่า แม้ภาคขนส่งไม่ใช่ผู้ผลิตขยะโดยตรง แต่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันแนวคิดเมืองเศรษฐกิจหมุนเวียน เนื่องจากภาคการขนส่งเข้าถึงผู้คนและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อยู่อาศัยในเมืองจำนวนมาก ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะจึงมีศักยภาพในการให้ความรู้แก่ผู้โดยสารหลายล้านคนในแต่ละวันในเรื่องการจัดการขยะและวงจรรีไซเคิล และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนเมืองในเรื่องรีไซเคิล โดยนางโอลิเวียได้เล่าถึงโครงการความริเริ่มต่างๆ ในฮ่องกง เช่น การให้ความรู้แก่ผู้โดยสารและพนักงานเกี่ยวกับการแยกขยะ และการนำตู้รถไฟและชิ้นส่วนที่ปลดระวางแล้วมาใช้ใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะลดปริมาณขยะ ยังสร้างความตระหนักรู้และปลูกฝังคุณค่าของทรัพยากรในหมู่เยาวชน
นายยูทากะ มิคามิ ผู้จัดการฝ่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สำนักกิจการระหว่างประเทศ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เมืองโยโกฮาม่า เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในเมืองใหญ่ โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะ ผ่านโครงการรณรงค์และเวิร์กช็อปด้านการศึกษาจำนวนมาก โยโกฮาม่าส่งเสริมให้นักเรียนและผู้ปกครองแยกขยะในครัวเรือน ส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมืองโยโกฮาม่าได้แบ่งปันประสบการณ์และความสำเร็จในการรีไซเคิลให้กับเมืองต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงเมืองในฟิลิปปินส์และไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทแห่งญี่ปุ่น (JICA) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี