พฤติกรรมการทำบุญของคนยุคใหม่ สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่น่าจับตามอง ผ่านทางเลือกในการทำบุญหลายหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการเดินทางไปทำบุญที่วัด หรือการทำบุญออนไลน์ โดยการเลือกสินค้าที่ต้องการทำบุญก็มีให้บริการ พร้อมไปทำบุญให้เสร็จสรรพ นอกจากนี้ธุรกิจจัดนำเที่ยวยังสามารถเพิ่มแพคเกจทัวร์สายบุญ เป็นอีกทางเลือกใหม่ของลูกค้า ทำให้บริการมีความหลากหลายและดึงดูดลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นตามมา ดังนั้นวันสำคัญทางศาสนาจึงไม่ใช่เพียงการสืบทอดประเพณีอันดีงานเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ยังกระจายอานิสงค์ไปยังธุรกิจไทยให้เติบโตตามพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อีกด้วย
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มีวันพระใหญ่ที่เป็นวันหยุดราชการถึง 4 วันต่อปี อย่างเช่นช่วงเวลานี้ที่เป็นวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธก็จะถือโอกาสออกไปทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ไหว้พระขอพรที่วัด ประกอบกับยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปทำบุญไม่ว่าจะเป็น วันเกิด การขอพรพระให้หายจากอาการเจ็บป่วย การสอบแข่งขัน งานบวช การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไปจนถึงการจัดงานศพ และจัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ชาวพุทธก็ยังเลือกที่จะเดินเข้าวัดเพื่อไปทำบุญ
ความน่าสนใจ คือ รูปแบบการทำบุญของชาวพุทธในยุคสมัยนี้ที่ได้ปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับวิถีชีวิตมากขึ้น จากการทำบุญแบบเดิมที่ต้องซื้อของใช้ทำบุญถวายสังฆทาน หรือการเดินทางไปยังวัดหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อบริจาคเงิน หรือปล่อยสัตว์ตามความเชื่อ กลับกลายเป็นการทำบุญในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำบุญออนไลน์ตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่
ทั้งนี้ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญโดยการถวายสังฆภัณฑ์ หรือเครื่องสังฆทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง ยา เครื่องอัฐบริขาร ผ้าไตร จีวร ของใช้ที่จำเป็น สบู่ ยาสีฟัน รองเท้า มีดโกน หลอดไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ธุรกิจในหมวดหมู่ ธุรกิจร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ได้รับอานิสงค์จากการทำบุญในเทศกาลต่างๆของชาวพุทธด้วย
โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) มีธุรกิจดังกล่าวที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยังดำเนินกิจการอยู่จำนวน 2,766 ราย มูลค่าทุน 12,093 ล้านบาท ในจำนวนนี้หากวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจะพบว่า มีธุรกิจที่ระบุถึงการจำหน่ายสังฆทานจำนวน 23 ราย มูลค่าทุน 46.4 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะดูไม่สูงนักเป็นเพราะธุรกิจจำหน่ายสังฆทานส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบร้านค้าทั่วไป และไม่นิยมมาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล หากธุรกิจกลุ่มนี้สามารถพัฒนาและจัดระบบการบริหารให้เข้าสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลได้ก็จะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือและมีโอกาสที่จะต่อยอดขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปอีกได้
อย่างไรก็ดีการทำบุญในรูปแบบออนไลน์ ได้เข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้ ธุรกิจหลายรายได้ปรับตัวให้ผู้บริโภคมีช่องทางการทำบุญแบบออนไลน์ โดยเฉพาะเพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่อาจมีภารกิจมากหรือไม่สะดวกในการไปทำบุญด้วยตนเองก็อาจใช้บริการให้ผู้อื่นทำแทน ตั้งแต่การเลือกชุดสังฆทานที่มีสินค้าหลากหลายผ่านทางออนไลน์ ไปจนถึงการนำชุดสังฆทานไปถวายวัดให้ โดยใช้บริการของร้านหรือการบริการปล่อยปลา หรือแม้กระทั่งธุรกิจการจัดทำบุญเลี้ยงพระ ก็มีบริการให้เลือกหลายหลากตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน
โดยการทำบุญออนไลน์ถือเป็นช่องทางการขายประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม และยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะสามารถเสนอขายสินค้าของตนเองได้ในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น การจัดแพคเกจสินค้าของธุรกิจตนเองให้มีความน่าสนใจ เช่น ชุดสังฆทานอุปกรณ์ห้องน้ำของบริษัทผลิตอุปกรณ์ในห้องน้ำ ชุดสังฆทานเครื่องมือแพทย์ของบริษัทเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
สำหรับช่วงวันหยุดยาว ชาวพุทธอาจเลือกใช้เวลานี้ไปกับการเดินทางไปทำบุญ ไหว้พระ ซึ่งหากธุรกิจทัวร์มีการจัดแพคเกจท่องเที่ยวสายบุญ ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการเรียกลูกค้าให้มาใช้บริการ โดยปัจจุบันมี ธุรกิจจัดนำเที่ยวที่ดำเนินกิจการอยู่ 9,919 ราย มูลค่าทุน 35,318 ล้านบาท ซึ่งการจัดทัวร์สายบุญ จะทำให้ผู้ท่องเที่ยวอิ่มบุญแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ลงลึกไปยังธุรกิจท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกประจำท้องถิ่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ช่วยหนุนรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างงานในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
“ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญและธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถใช้โอกาสนี้ปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคได้ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวพุทธ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศอีกด้วย”นางอรมน กล่าว
-033
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี