ผู้สื่อขาวรายงานว่า จันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ซึ่งจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 2568 ทำให้รัฐบาลปรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด โดยจะนำวงเงินที่อยู่ในงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน และจำเป็นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเหลือวงเงิน 157,000 ล้านบาท มาจัดสรรใหม่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแผนใหม่ที่จะออกเป็นแพ็กเกจ และเน้นรองรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐ ซึ่งต้องเน้นการปรับโครงสร้างการผลิต การเสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่จะชะลอตัว
ทั้งนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคมนี้ ข้อสรุปเรืองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่จบในการประชุมครั้งแรก ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณา คือ การทบทวนแผนการใช้งบประมาณ วางกรอบดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-ยาว เพื่อให้ละเอียด รอบคอบ และชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งอาจยังไม่ได้ข้อสรุปในครั้งนี้ และอาจมีการประชุมเพิ่มเติมครั้งต่อไป
“ที่ประชุมจะพิจารณาการดำเนินการจะเห็นมาตรการ ระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้คนทำงานได้ดูอย่างละเอียด ใช้เงินเท่าไร ซึ่งแต่ละเรื่องต้องมีคนดูแลรับผิดชอบ อาจไม่จบในการ ประชุมครั้งแรกเป็นเพียงการวางกรอบเท่านั้น”นายพิชัย กล่าว
ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายระตันเศรษฐกิจ กล่าวว่า มีวาระสำคัญที่จะพิจารณา คือ การทบทวนแผนการใช้งบประมาณ จำนวน 1.57 แสนล้านบาท ที่เดิมเตรียมไว้สำหรับรองรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3-4 แต่เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ จึงต้องมีการทบทวนแผนการใช้เงินในส่วนนี้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด โดยขณะนี้ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้พิจารณา รวมถึงมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจ และประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ โดยได้มีการแยกแผนการใช้เงินสำหรับกลุ่มต่าง ๆ อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้โครงการที่จะดำเนินการจะต้องตอบโจทย์ และคาดหวังกับเศรษฐกิจได้ และเป็นมาตรการที่เตรียมไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่เงินมี เช่น โครงการลงทุน ซึ่งจะต้องเป็นโครงการขนาดเล็กที่ลงทุนเร็วใน 4-5 เดือน การปรับโครงสร้าง การดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ต้องเตรียมแผนรองรับไว้ และถือเป็นความครบถ้วนของการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
“ขณะนี้บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เราควรจะเอาเงินตรงส่วนนี้ไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ที่สุดกับประเทศไทยก่อน ซึ่งเราได้ทำการบ้านอย่างละเอียด ตอนนี้เสร็จแล้ว ยอมรับว่ามีการเสนอโครงการเข้ามาค่อนข้างเยอะ แต่ยังพูดรายละเอียดไม่ได้ คงต้องรอส่งการบ้านให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมในช่วงเช้าวันที่ 19 พ.ค.นี้ได้พิจารณาก่อน หลังจากนั้น จึงจะเสนอคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจพิจารณาต่อไปว่าเห็นด้วยกับแนวทางต่างๆ ที่ได้เตรียมเสนอไว้หรือไม่ เราเสนอไป 100 อาจจะเห็นด้วย 80 ก็ได้ ทั้งหมดต้องรอที่ประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจสรุปอีกที ก่อนที่จะส่งให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา”ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
นายลวรณ กล่าวอีกว่า เม็ดเงิน 1.57 แสนล้านบาท จะเพียงพอรองรับผลกระทบที่จะเกิดกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น ต้องรอดูผลการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐฯ ว่าท้ายที่สุดแล้วไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีอย่างไร และในอัตราใด มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมใด มากน้อยเพียงใด เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้วจึงจะทราบว่างบประมาณดังกล่าวเพียงพอหรือไม่ และหากท้ายสุดแล้วไม่เพียงพอจริงๆ ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะมีวงเงินงบประมาณก้อนอื่นที่จะสามารถเกลี่ยมาช่วยรองรับในส่วนนี้ได้
“ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะไม่ลงไปต่ำกว่า 2% ซึ่งล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ปรับลดคาดการณ์ลงมาเหลือ 2.1% แล้ว และไม่อยากเห็นกรณีเลวร้ายที่ตัวเลขจีดีพีขยายตัวเพียง 1% เชื่อว่าทุกฝ่ายจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาการเติบโตไม่ให้ต่ำกว่า 2 % ดังนั้น การจะปรับหรือทบทวนแผนการใช้เงินต่าง ๆ จึงต้องทำให้เร็ว และต้องมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย โดยเม็ดเงิน 1.57 แสนล้านบาทนี้ จะต้องเร่งใช้จ่ายให้หมดภายใน ก.ย.68”ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า หากต้องการทบทวนโครงการ ดิจิทัล วอลเล็ต เฟส 3 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และใน เฟส 4 วงเงินกว่าแสนล้านบาท ก็จะใช้ความเห็นประกอบจาก 2 หน่วยงานที่คัดค้านการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 3 คือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลอธิบายประชาชนได้ว่าทำไมจึงยกเลิกโครงการ ซึ่งการรองรับวิกฤติถือเป็นเหตุผลที่คาดว่าสังคมรับฟังได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี