ในวันที่บริการดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ “ความสะดวก” ที่ประชาชนคาดหวังอีกต่อไป แต่คือ “ความมั่นใจ” ที่จะยืนยันได้ว่า “เราคือใคร” อย่างปลอดภัย ถูกต้อง และตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นภาษี เปิดบัญชีธนาคาร ลงทะเบียนเรียน รับสิทธิสวัสดิการ หรือเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชน ทุกอย่างล้วนเริ่มต้นจากการพิสูจน์ตัวตนที่เชื่อถือได้
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ Digital ID หรือ Digital Identity กลายเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศในยุคดิจิทัล เพื่อเร่งผลักดันให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสามารถใช้งานได้จริง และส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จึงได้ร่วมกับ หน่วยงานราชการ และองค์กรภาคเอกชน เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศให้เกิดเป็นระบบนิเวศน์ที่รองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับ Digital ID เพื่อการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล มีความปลอดภัย น่าเชื่อถือ ภายใต้กรอบการดำเนินงานร่วมกันอย่างบูรณาการณ์ อย่าง “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – 2567)” หรือที่รู้จักกันในชื่อ Digital ID Framework ระยะที่ 1 ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือน “แผนปฏิบัติการ Digital ID ระดับชาติ” ที่บูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้ Digital ID ได้ในมาตรฐานเดียวกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความซ้ำซ้อน และความยุ่งยากในการยืนยันตัวตน เพิ่มความปลอดภัย ให้กับธุรกรรมออนไลน์ และที่สำคัญคือ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ ตลอดระยะเวลา 3 ปีของเฟสแรก ประเทศไทยได้วางรากฐานผลักดันให้ Digital ID เกิดการใช้งานในวงกว้างเป็นผลสำเร็จอย่างไรบ้าง และ Next step ก้าวที่มั่นใจ ก้าวต่อไปของ Digital ID Framework ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568–2570) จะเป็นอย่างไร ETDA จะสรุปให้เห็นภาพชัดๆ ไปพร้อมกัน
• ถอดความสำเร็จ ‘Digital ID Framework ระยะที่ 1’-เร่งวางรากฐานที่มั่นคง สู่ความพร้อมใช้งาน
หากมองภาพรวมของ Digital ID Framework ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565–2567) จะเห็นว่ามีการวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนทั้งหมด 8 กลยุทธ์สำคัญ โดยมุ่งให้ประชาชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ สามารถใช้ Digital ID ได้อย่างปลอดภัยและสะดวกมากขึ้น ให้ประชาชนเลือกใช้ Digital ID ที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น ThaiD, NDID, เป๋าตัง หรือ Mobile ID เพื่อเข้าถึงบริการออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ ใช้ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยเป็นฐานหลัก พร้อมกำหนดให้ ETDA ขับเคลื่อนภาพรวมและวางมาตรฐานกลาง เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของตน รวมถึง มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งการพัฒนามาตรฐานบริการภาครัฐ เชื่อมโยงกับภาคเอกชนได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นต้น ภายใต้ Digital ID Framework ระยะที่ 1 ได้สร้างฐานการใช้งาน Digital ID ผ่านบริการภาครัฐและเอกชนหลากหลายบริการ โดยคนไทยมีการใช้งานและ Digital ID ผ่านแอปพลิเคชันตลอดจนบริการต่างๆ รวมไม่น้อยกว่า 113 ล้านคน ประกอบด้วย แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มีผู้ใช้งานมากถึง 30 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2567), แอปพลิเคชัน “ThaiD” ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มีผู้ใช้บริการ 21 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มกราคม 2568), แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” โดยธนาคารกรุงไทย มีผู้ใช้งาน 40 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2567), แพลตฟอร์ม NDID ซึ่งใช้ในธุรกรรมด้านการเงิน มีผู้ใช้งาน 22 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) และบริการ Mobile ID ที่ใช้ระบุตัวตนผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้งานในช่วงทดสอบ 150,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567) และคาดว่าในอนาคตจะมียอดการใช้งาน Digital ID เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
• มุ่งสู่อนาคต: Digital ID Framework ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570) ยกระดับการเข้าถึงที่ “สะดวก ปลอดภัย และไร้รอยต่อ”
แม้ Digital ID Framework ระยะที่ 1 จะวางรากฐานได้อย่างมั่นคง แต่การจะสร้างสังคมดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างแท้จริง จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ETDA ในฐานะหน่วยงาน Co-Creation Regulator ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบายด้านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ ที่ร่วมกำหนดนโยบายและผลักดันการดำเนินงานด้าน Digital ID อย่างต่อเนื่อง จึงเดินหน้าสู่ “Digital ID Framework ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2568 – 2570)” โดยมุ่งเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การทำให้ Digital ID กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เข้าด้วยกันในระบบนิเวศดิจิทัลที่ปลอดภัย ไร้รอยต่อ และครอบคลุมทุกภาคส่วน รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภายใต้ 5 เป้าหมายหลักของเฟส 2 ที่ตอบโจทย์อนาคต ไม่ว่าจะเป็น 1) ยกระดับธุรกรรมดิจิทัลให้ใช้งานสะดวกและเข้าถึงง่าย 2) เสริมสร้างให้ธุรกรรมดิจิทัลมั่นคงปลอดภัย มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3) ส่งเสริมการบูรณาการและการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนและระหว่างประเทศ 4) เพิ่มการใช้งานให้แพร่หลายเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทุกภาคส่วน และ 5) สร้างกลไกให้เกิดธรรมาภิบาลในการให้บริการ ผ่านการขับเคลื่อนผ่าน 6 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐด้วย Digital ID ได้อย่างสะดวกและครอบคลุม ที่เน้นผลักดันให้ประชาชนสามารถใช้ Digital ID เข้าถึงบริการทั้งจากภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้น โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคล คนต่างด้าว และกลุ่มเปราะบาง
กลยุทธ์ที่ 2 สร้างความเชื่อมั่นในการใช้ Digital ID เพื่อป้องกันการปลอมแปลงและการฉ้อโกง มุ่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ รู้จักตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างรอบคอบก่อนติดตั้งแอปพลิเคชัน หรือ สแกน QR code หรือ คลิกลิงก์ ที่อาจเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง
กลยุทธ์ที่ 3 ส่งเสริมการใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมนิติบุคคล ผลักดันให้เกิดระบบรองรับธุรกรรมนิติบุคคลด้วย Digital ID ที่เชื่อถือได้ เช่น ระบบกลางสำหรับการมอบอำนาจ เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถตรวจสอบอำนาจของผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลได้อย่างมั่นใจ
กลยุทธ์ที่ 4 สนับสนุนการใช้ Digital ID เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคส่วน วางมาตรฐานและสร้างระบบนิเวศในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ ทั้งในรูปแบบ B2B, B2G และ G2G ให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับโมเดลทางธุรกิจ
กลยุทธ์ที่ 5 ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานในการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพัฒนากลไกการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าว โดยนำข้อมูลการเข้า–ออกประเทศมาใช้ในการอ้างอิงเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมั่นใจ
กลยุทธ์ที่ 6 พัฒนากลไกติดตามและประเมินความเสี่ยงของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ Digital ID เพื่อสร้างความมั่นใจว่าระบบ Digital ID ที่ใช้อยู่จะมีความปลอดภัยสูงสุด ทั้งในมุมของผู้ให้บริการและผู้ใช้งาน โดยเฉพาะในยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความซับซ้อนมากขึ้น
• เป้าหมายปี 2570: ประชาชนมั่นใจ ธุรกิจขยายตัว สังคมดิจิทัลก้าวไกล
ภายในปี 2570 คาดว่าประชาชน นิติบุคคล และคนต่างด้าว จะสามารถใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงบริการ e-Service ได้อย่างทั่วถึง โดยประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐไม่ต่ำกว่า 1,000 รายการ และมีการนำร่องให้กลุ่มนิติบุคคลและคนต่างด้าวสามารถใช้บริการได้อย่างน้อย 8 กลุ่มภาคบริการ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้ เอกสารรับรองดิจิทัล เอกสารสำแดงดิจิทัล และกระเป๋าเอกสารดิจิทัล (Document Wallet) แทนเอกสารกระดาษในการทำธุรกรรม ซึ่งมีเป้าหมายรายปี ดังนี้
ปี 2568-เร่งเริ่มต้นระบบใหม่ วางรากฐานเชิงเทคนิคและเชิงนโยบาย เช่น
• ประชาชนเข้าถึง Digital ID ได้สะดวกขึ้น ด้วยการใช้ระบบพิสูจน์ตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service) ของกรมการปกครอง
• มีกลไกสนับสนุนการของบประมาณเพื่อเชื่อม Digital ID กับบริการ e-Service
• มีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของนิติบุคคล นำร่องในกลุ่มงานบริการภาคการเงินในบริการการเปิดบัญชี การขอสินเชื่อ
• นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติสามารถ ใช้ Digital ID ในการเข้าถึงบริการ e-Service
• มีกรอบแนวทางการสร้างความน่าเชื่อถือของระบบนิเวศเอกสารรับรองสำหรับ Document Wallet (Trust Model Framework)
• มีพื้นที่ทดสอบการใช้งานระบบนิเวศของเอกสารรับรองดิจิทัลและกระเป๋าเอกสารดิจิทัล (Document Wallet Ecosystem) ของงานบริการภาครัฐ และภาคเอกชน
• ประชาชนใช้ Digital ID เพื่อลดปัญหาการปลอมแปลงตัวตนและการฉ้อโกง (Fraud) ของหน่วยงานภาคการเงิน การธนาคาร
ปี 2569-เดินหน้าขยายการเข้าถึง และเริ่มใช้จริงในหลายบริบท เช่น
• กลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้เยาว์และผู้สูงอายุ สามารถใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้
• ขยายผลการทำธุรกรรมของนิติบุคคลไปยังกลุ่มงานบริการภาครัฐ
• นักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว สามารถใช้ Digital ID เข้าถึง e-Service
• ประชาชนเริ่มมีการใช้งานเอกสารรับรองดิจิทัลและเอกสารสำแดงดิจิทัล
• เอกชนให้บริการกระเป๋าดิจิทัลสำหรับเอกสารรับรอง (Document Wallet) โดยนำร่องจากเอกสารทางการศึกษา ทะเบียนราษฎร เพื่อสร้างความสะดวกและความน่าเชื่อถือในการสมัครงาน รวมถึงการสมัครเรียนแบบข้ามพรมแดน (Cross Border) กับประเทศ ASEAN
• ประชาชนใช้ Digital ID ในการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์ดิจิทัล ลดปัญหาการปลอมแปลงตัวตนและการฉ้อโกง (Fraud) กลุ่มบริการ Online Market Place, Social Commerce, Social Media, Ride Sharing
ปี 2570-บรรลุเป้าหมายสำคัญ สร้างผลลัพธ์เชิงระบบในระดับประเทศ เช่น
• ประชาชนใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงบริการ e-Service ภาครัฐได้ไม่น้อยกว่า 1,000 บริการ e-Service
• ขยายผลการทำธุรกรรมของนิติบุคคล ไปยังกลุ่มงานบริการภาคการค้า
• นักศึกษา คนต่างด้าวที่อยู่ในไทยระยะยาว สามารถใช้ Digital ID ในการทำ e-Service
• หน่วยงานภาครัฐให้บริการกระเป๋าเอกสารดิจิทัลเพื่อรองรับการใช้งานเอกสารรับรองดิจิทัล เอกสารสำแดง – เอกสารที่ราชการออกให้กับประชาชน
• ประชาชนใช้ Digital ID ในการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ลดปัญหาการปลอมแปลงตัวตนและการฉ้อโกง (Fraud) (ขยายผล)
Digital ID ไม่ใช่เพียงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ แต่คือรากฐานของ “ความมั่นใจ” ที่เราทุกคนจะสามารถใช้ยืนยันตัวตนได้อย่างปลอดภัย เท่าเทียม และไร้รอยต่อ เพื่อเข้าถึงบริการดิจิทัลที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งในวันนี้และอนาคต ETDA เชื่อมั่นว่า ความเชื่อใจคือทุนที่สำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล และการสร้างระบบ Digital ID ที่เข้าถึงได้จริง ใช้งานได้จริง และร่วมสร้างได้จริงจากทุกภาคส่วน จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าอย่างมั่นคง เรากำลังสร้างสังคมที่ไม่ต้องรอให้ใครตามทัน แต่เป็นสังคมที่ "ทุกคนก้าวไปด้วยกัน"- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ ETDA Thailand
- 030
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี