ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย(KTB) ประเมินว่า การเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของ BRICS (BRICS Partner Country) ของไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นมา จะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาดดังกล่าว ทั้งด้านการเข้าถึงตลาดใหม่ การระดมทุนเพื่อพัฒนาการเกษตร และมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เอื้อต่อการขยายการลงทุน ซึ่งภาคเกษตรและอาหารของไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ มีมูลค่าการส่งออกกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ไทย
ทั้งนี้ตลาด BRICS อาจช่วยบรรเทาหรือทดแทนสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่อการส่งออกสินค้าของไทยได้บางส่วน เนื่องจากไทยส่งออกข้าวหอมมะลิและอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 44% และ 32% ของการส่งออกข้าวหอมมะลิและอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยทั้งหมด ตามลำดับ
สำหรับตลาดเป้าหมายที่ควรเร่งบุก ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) รัสเซีย และแอฟริกาใต้ เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารสูง อีกทั้งตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเฉพาะข้าว ไก่ และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้บ้าง
โดยปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการไทยในการเข้าสู่ตลาด BRICS คือ การเข้าใจตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หลากหลาย รวมถึงคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ซึ่งแต่ละประเทศใน BRICS มีกฎระเบียบและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารที่เข้มงวด เช่น ตลาดกลุ่มประเทศอาหรับที่ต้องได้รับมาตรฐานฮาลาลของ Gulf Cooperation Council (GCC) และองค์การความร่วมมืออิสลาม(OIC) และสินค้าอาหารทะเลกระป๋องที่วางจำหน่ายในแอฟริกาใต้ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแอฟริกาใต้(South African Bureau of Standard: SABS)
นอกจากนี้ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า หรือ Certificate of Origin เป็นเอกสารที่ใช้ยืนยันว่า สินค้าที่จะส่งออกมีแหล่งกำเนิดจากประเทศใด ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญในการทำการค้าระหว่างประเทศและช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าเกษตรและอาหารจากไทยในตลาด BRICS
อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนขนส่งที่สูง เนื่องจากการขนส่งสินค้าไปยัง BRICS มีระยะทางไกล โดยเฉพาะรัสเซีย เช่น ท่าเรือ Novorossiysk ที่มีระยะเวลาขนส่งทางเรือจากไทยถึง 30-40 วัน ยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) และแอฟริกาใต้ ที่ใช้เวลา 9-15 และ 19-30 วัน ตามลำดับ รวมถึงระบบ Cold Chain Logistics สำหรับสินค้าแช่แข็งที่มีค่าขนส่งสูงกว่าการขนส่งสินค้าที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิ
อีกทั้งมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนของการเจรจาทางการค้า(Incoterm) เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและกฎระเบียบที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ Incoterms ที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการส่งออก โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการขนส่ง ความรับผิดชอบในกรณีความเสียหายของสินค้า และขั้นตอนศุลกากร เช่น Free on Board (FOB) หรือ Cost, Insurance, and Freight (CIF) ที่มักถูกใช้ในประเทศ BRICS เพื่อสร้างความชัดเจนในเรื่องความรับผิดชอบระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย การเจรจา Incoterms ที่รอบคอบและเหมาะสมไม่เพียงช่วยเพิ่มความโปร่งใส แต่ยังเสริมสร้างความไว้วางใจในความสัมพันธ์ทางการค้า ทำให้ผู้ส่งออกสามารถปรับตัวกับตลาด BRICS ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นใจมากขึ้น
อนึ่ง BRICS (BRICS Partner Country) เป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจสำคัญที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ 5 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และกำลังเติบโตในระดับโลก ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยปัจจุบันกลุ่มสมาชิก BRICS (BRICS Members) มีทั้งหมด 10 ประเทศ ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย อียิปต์ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) อินโดนีเซีย และมีประเทศหุ้นส่วนของ BRICS (BRICS Partners) อีก 9 ประเทศได้แก่ เบลารุส โบลิเวีย คาซัคสถาน คิวบา มาเลเซีย ไทย ยูกันดา อุซเบกิสถาน และไนจีเรีย โดยสัดส่วน GDP ของกลุ่ม BRICS รวมกันสูงถึง 43% ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของโลก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี