นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่า จากกรณีที่กรมฯ ได้รับข้อเรียกร้องจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในหลายจังหวัด ขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ออกมาตรการกำกับดูแลสินค้ายางพาราเพิ่มเติม จากมาตรการที่มีอยู่เดิม เช่น การกำหนดราคาซื้อขั้นต่ำ การแจ้งต้นทุน การควบคุมแผนการผลิต การนำเข้า-ส่งออก การควบคุมการขนย้าย และการป้องกันการปั่นป่วนราคายางในตลาด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2568 กรมการค้าภายในจึงได้หารือกับนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. เพื่อพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนใช้มาตรการตามกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบัน กกร. ได้กำหนดให้ยางพารา รวมถึงน้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง และยางเครพ เป็นสินค้าควบคุม ตามประกาศ กกร. ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2567 พร้อมออกมาตรการกำกับดูแล อาทิ การกำหนดให้ผู้รับซื้อตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ต้องแจ้งข้อมูลปริมาณยางพาราเป็นรายเดือน และการแสดงราคารับซื้ออย่างชัดเจน โปร่งใส ตรงกับราคาจริง
สำหรับข้อเสนอของเกษตรกรในการกำหนดราคารับซื้อ ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 นั้น กรมฯ ได้ขอให้ กยท. จัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตและโครงสร้างราคายางอย่างละเอียด เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการ กกร. พิจารณาอย่างรอบคอบ ในการกำหนดราคายางพาราที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
นายวิทยากร กล่าวว่า ในด้านการกำกับดูแลการซื้อขาย กรมการค้าภายในร่วมกับ กยท. และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการตรวจสอบการติดป้ายราคารับซื้อ และตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักที่ใช้ในการซื้อขายยางพาราอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความโปร่งใสและป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกร โดยที่ผ่านมาได้มีการจับกุมผู้กระทำผิดที่ดัดแปลงเครื่องชั่งให้แสดงน้ำหนักต่ำกว่าความเป็นจริงในหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรวจพบเครื่องชั่งสปริงดัดแปลงในรถเร่รับซื้อเศษยาง จังหวัดเลย พบเครื่องชั่งแสดงน้ำหนักต่ำกว่าความจริงประมาณ 10 กิโลกรัม และจังหวัดบึงกาฬ พบเครื่องชั่งแสดงน้ำหนักต่ำกว่าจริงราว 8 กิโลกรัม ซึ่งผู้กระทำผิดทั้งหมดถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ในส่วนของตลาดต่างประเทศ กรมฯ และ กยท. ได้เห็นชอบร่วมกันในการขยายโอกาสทางการตลาด โดยเน้นการเจาะตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ที่มีความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตลาดเดิม เช่น สหภาพยุโรป ด้วยการยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าภายใต้นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกและราคายางของไทย โดยกรมฯ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ร่วมกับ กยท. วางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมยางพาราไทยในตลาดโลก
“การดำเนินงานในครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังมุ่งสร้างกลไกตลาดที่โปร่งใส และยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล“ นายวิทยากร กล่าว
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี