นางสาวสมหญิง ทัฬหิกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมอุทยานฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า อำเภออมก๋อย ถือเป็นพื้นที่ที่มีป่าขนาดใหญ่ที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมถึง “กวางผา” ซึ่งถือเป็นสัตว์ประจำถิ่น และเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชนอย่าง มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ในการร่วมแก้ปัญหา “กวางผา” ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญมาก โดยถือเป็นกิจกรรม “การอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างมีส่วนร่วม”
กิจกรรมดังกล่าวเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์ปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อยู่คู่กับ อ.อมก๋อย โดยมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อยเป็นหน่วยงานสำคัญทำหน้าที่ในการรวบรวมสายพันธุ์กวางผาในจุดต่าง ๆ นำมาเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ มีการตรวจสอบ DNA กวางผาที่อยู่ในธรรมชาติและศูนย์เพาะเลี้ยงด้วย เพื่อเติมความหลากหลายของสายพันธุกรรมของประชากรกวางผาให้มีความแข็งแรงมากขึ้นในแต่ละพื้นที่ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์เกิดสภาวะเลือดชิด (Inbreeding) และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากวางผาที่ปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาตินั้นจะสามารถปรับตัวอยู่ในธรรมชาติและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสมดุลและยั่งยืน กิจกรรมในครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า รวมทั้งสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและกลุ่มเยาวชนในการอนุรักษ์ปกป้องและรักษาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้อยู่อย่างสมดุลและยั่งยืน
นายภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย ถือเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทย ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ "กวางผา" และดูแลเรื่องพันธุกรรมของกวางผาทั้งในกรงเลี้ยงและในธรรมชาติ โดยกวางผาที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทั้ง 5 ตัวนี้ เพาะเลี้ยงและดำเนินการปรับสภาพก่อนปล่อยไม่น้อยกว่า 6 เดือน โดยทีมงานสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย และจะมีการติดตามหลังการปล่อยด้วยเช่นกัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการปล่อยคืนกวางผาสู่ธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์ทางภาคเหนือของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูประชากรกวางผาในธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมกวางผาในพื้นที่มาโดยตลอด ทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท มูลนิธิสืบฯ ขอขอบคุณมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และพี่น้องชาวอมก๋อย ที่ช่วยกันดูแล ปกป้อง สัตว์ป่าสงวนที่สำคัญของชาวไทยชนิดนี้เอาไว้อย่างดี และขอทิ้งท้ายฝากถึงพี่น้องคนอมก๋อยว่าท่านมีของดีอยู่กับตัว
นายกฤตยรัฐ ปารมี ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท(ซีพี) กล่าวว่า กิจกรรมปล่อย "กวางผา" คืนสู่ธรรมชาติ ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแผนงานของโครงการ “ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล“ จ.เชียงใหม่ สร้างอมก๋อยน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำ ที่มูลนิธิฯ มุ่งมั่นปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่เป็นป่าต้นน้ำสำคัญในภาคเหนือ ส่งเสริมการปกป้องรักษาป่า รวมถึงสัตว์ป่า โดย ต.ม่อนจอง และ ต.แม่ตื่น มีกวางผาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่มีความสำคัญ และมีจำนวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ จึงนำมาสู่แผนงานและโครงการการอนุรักษ์กวางผาร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย รวมทั้งประชาชน และกลุ่มเยาวชน โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ร่วมสนับสนุนการเพาะพันธุ์กวางผา และปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติแล้ว 18 ตัว ด้วยการสนับสนุนตั้งแต่ทำการวิจัย เพาะเลี้ยง และขยายพันธุ์ จนกระทั่งปล่อยกลับคืนสู่ป่าที่มีประสิทธิภาพในจุดที่เหมาะสม เพื่อขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังติดตามการอยู่อาศัยของสัตว์ป่าและการอยู่รอดในธรรมชาติของกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยต่อไป ปัจจุบันมี “กวางผา” ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย จำนวนทั้งสิ้น 78 ตัว และสัตว์ป่าประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 202 ตัว ที่ได้รับการสนับสนุนการอนุบาลเลี้ยงดูจากมูลนิธิฯ
ขณะเดียวกัน โครงการ “ซีพีพัฒนา-อมก๋อยโมเดล” จ.เชียงใหม่ ไม่เป็นเพียงโครงการที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังมีแผนงานสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนในพื้นที่ไปพร้อมกันด้วยแนวคิดที่ว่า "คนกับระบบนิเวศสามารถอยู่ร่วมกันได้ผ่านการบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างเหมาะสมและยั่งยืน" โครงการฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำ และส่งเสริมการประกอบอาชีพที่มั่นคงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ การปล่อยกวางผาในครั้งนี้ จึงไม่เพียงเป็นการเพิ่มประชากรสัตว์ป่าที่สำคัญ แต่ยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนอย่างแท้จริง โดยมูลนิธิฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้ "อมก๋อย" เป็นพื้นที่น่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี