นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าประมง (พิกัดศุลกากร 03) พบว่า เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2568 ญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงกับจีน โดยคาดว่าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นจะสามารถส่งออกไปตลาดจีนได้อีกครั้ง หลังจากจีนห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นเป็นเวลาเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งญี่ปุ่นต้องขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปอาหารทะเลกับทางการจีน และสินค้าที่ส่งออกต้องมีใบรับรองเพื่อยืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี
โดยในปี 2565 จีนเคยนำเข้าสินค้าประมงจากญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 10 มูลค่า 506.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 2.7% ของมูลค่าการนำเข้าของจีน และสินค้าประมงที่จีนนำเข้าจากญี่ปุ่นมาก เช่น หอยสแกลลอป และปลา เป็นต้น
ทั้งนี้ข้อมูลการค้าสินค้าประมง จาก Trademap.org พบว่า ในปี 2567 การส่งออกสินค้าประมงของโลก มีมูลค่า 136,804.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.นอร์เวย์ สัดส่วน 11.3% ของมูลค่าการส่งออกของโลก 2.จีน 7.6% 3.เอกวาดอร์ 5.4% 4.ชิลี 5.3% และ 5.อินเดีย 4.5% ส่วนไทยส่งออกเป็นอันดับ 24 ของโลก สัดส่วน 1.1% และประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.สหรัฐฯ สัดส่วน 15.3% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก 2.จีน 13% 3.ญี่ปุ่น 6.9% 4.สเปน 5.4% และ 5.อิตาลี 4.7% ขณะที่ไทยนำเข้าเป็นอันดับ 10 ของโลก สัดส่วน 2.5%
“เฉพาะจีน เป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก มีสัดส่วน 13% ของมูลค่าการนำเข้าของโลก โดยในปี 2567 จีนนำเข้าสินค้าประมง 17,885.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่นำเข้าจากเอกวาดอร์ สัดส่วน 17.4% ของมูลค่าการนำเข้าของจีน รัสเซีย 15.3% แคนาดา 7.0% เวียดนาม 6.6% และอินเดีย 6.4% ขณะที่นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 11 สัดส่วน 2.1% คิดเป็นมูลค่า 380.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”นายพูนพงษ์ กล่าว
สำหรับการค้าสินค้าประมงของไทยในปี 2567 ไทยส่งออกเป็นมูลค่า 1,544.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 54,171.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.29% เมื่อเทียบกับปี 2566 ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน สัดส่วน 23.5% ของมูลค่าการส่งออกของไทย 2.ญี่ปุ่น 18.9% 3.สหรัฐฯ 14.2% 4.เกาหลีใต้ 5.6% และ 5.อิตาลี 5.5% โดยการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปจีน มีมูลค่า 363.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 12,717.60 ล้านบาท ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับปี 2566 สินค้าสำคัญที่ส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กุ้ง สัดส่วน 68.9% ของมูลค่าการส่งออกไปจีน 2.สัตว์น้ำเปลือกแข็ง และโมลลุสก์ อื่นๆ 14.3% 3.ปลา 10.7% 4.หมึก 4.2% และ 5.แมงกะพรุน 1.5%
ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2568 (มกราคม-เมษายน 2568) การส่งออกสินค้าประมงของไทย มีมูลค่า 464.06 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 15,654.61 ล้านบาท ลดลง 10.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ตลาดส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จีน สัดส่วน 22.67% ของมูลค่าการส่งออกของไทย 2.ญี่ปุ่น 19.52% 3.สหรัฐฯ 12.90% 4.อิตาลี 7.44% และ 5.เกาหลีใต้ 5.87% โดยการส่งออกสินค้าประมงจากไทยไปจีนมีมูลค่า 105.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,549.13 ล้านบาท ลดลง 20.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567
นายพูนพงษ์ กล่าว การส่งออกสินค้าประมงสร้างรายได้ให้ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ญี่ปุ่นกลับมาส่งออกสินค้าประมงไปยังจีนได้อีกครั้ง อาจจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าประมงของไทยในจีนลดลง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัว และพัฒนากลยุทธ์ทางการค้า เพื่อรักษาตลาดเดิมไว้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น โดยการควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมง และเร่งขยายตลาดไปยังตลาดอื่นๆที่มีศักยภาพ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กัมพูชา และฟิลิปปินส์ รวมทั้งให้ความสำคัญในการแก้ไขประเด็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ส่งเสริมการทำประมงที่ยั่งยืน (Sustainable Fishing) อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานการค้าและอุตสาหกรรมประมงของไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี