นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก เข้าพบหารือกับ Mrs. Nipa Kim Senior Global Sourcing Manager บริษัท Clark Associates Inc. ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 เวลา 9.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น สหรัฐอเมริกา
นายจตุพร กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ให้เพิ่มมากขึ้น ตาม 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วน ที่ตนให้กับทีมพาณิชย์ในการเร่งรัดการส่งออก และบุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งบริษัท Clark Associates Inc. ถือเป็นผู้นำตลาดอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ ในกลุ่มสินค้าอุปกรณ์และเครื่องใช้สำหรับอุตสาหกรรม Food Service โดยกระทรวงพาณิชย์ได้รับทราบความต้องการของบริษัทในการพัฒนาระบบฐานข้อมูล (Database) ภาครัฐให้ภาคเอกชนจับคู่ธุรกิจง่ายขึ้น ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางการค้าทั่วโลกถือเป็นโอกาสที่ภาคธุรกิจไทยจะได้ปรับโครงสร้างให้สามารถแข่งขันได้
โดยในปีที่ผ่านมา บริษัท Clark Associates Inc. มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากไทยถึง 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นหลัก 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอนาคต โดยสินค้าหลักของบริษัทฯ ได้แก่ ตู้แช่เชิงพาณิชย์ เครื่องทำความเย็น เตาอบ ไมโครเวฟ ชั้นวางอาหาร ถุงมือแพทย์ กล่องอาหาร แก้วน้ำ แก้วไวน์ โต๊ะกลางแจ้ง และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกได้อย่างมีคุณภาพ
นายจตุพร กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ มีสาระสำคัญครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.แสดงความพร้อมของประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตที่มีศักยภาพสูง โดยเน้นย้ำถึงความสามารถของผู้ผลิตไทยในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะในกลุ่มอุปกรณ์ครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ 2.เชิญชวนผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเยี่ยมชมโรงงานผลิตของผู้ประกอบการไทย และเข้าร่วมกิจกรรม Business Matching โดยมีภาครัฐไทยพร้อมให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่
3.แลกเปลี่ยนข้อมูลแนวโน้มความต้องการของตลาดสหรัฐฯ ให้ผู้ผลิตไทยสามารถพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสม4.หารือแนวทางลดอุปสรรคทางการค้าและโลจิสติกส์ อาทิ มาตรการทางภาษี มาตรฐานสินค้า และกระบวนการทางศุลกากร พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากบริษัทฯ และเสนอให้ภาครัฐไทยหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยกันอำนวยความสะดวก เพื่อให้การนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
“กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอบคุณบริษัทฯ ที่เข้าร่วมกิจกรรม Online Business Matching กับผู้ประกอบการไทย ภายใต้กิจกรรม “USA–Thailand Online Business Matching: Gateway of Sourcing Thai Products” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17–19 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และผลไม้แช่แข็ง ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ”นายจตุพรกล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า การหารือกับบริษัท Clark Associates Inc.ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการขับเคลื่อนการส่งออก ขยายตลาดเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ ในการสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยโดยอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่มีศักยภาพ ช่วงเวลานี้เราต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่อย่างทันท่วงที เพื่อผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดอเมริกาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัท Clark Associates Inc. เป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการอาหารรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 1971 โดย Glenn และ Lloyd Clark ที่เมือง Hatville รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนจะขยายธุรกิจเข้าสู่การติดตั้งและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ครัว และเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง Lancaster รัฐเพนซิลเวเนีย มียอดขายรวมกว่า 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 100,000 ล้านบาท มีสินค้าเกือบ 500,000 รายการ (SKUs) และมีพนักงานกว่า 8,200 คน โดยลูกค้าสำคัญของบริษัท ได้แก่ Disney, Marriott Hotel, Starbucks, Subway และ Chick-fil-A เป็นต้น
-031
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี