นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2568 ต้องเตรียมรับมือกับภาษีศุลกากรสหรัฐฯที่อาจจะสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว กระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าไทยชะลอตัว และสินค้าที่มีอุปทานส่วนเกินในต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการไทย ห่วงโซ่อุปทาน และแรงงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยเริ่มชะลอตัว นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและเศรษฐกิจนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ ที่มีผลกระทบกับชีวิตผู้คน สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และประเทศ
ทั้งนี้ธนาคารฯดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ด้วยความระมัดระวัง พร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน โดยให้ ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวไม่เต็มที่ สนับสนุนการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย เฟส2” ที่ได้ปรับเงื่อนไขให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SME กลุ่มเปราะบางได้มากขึ้น ครอบคลุมกลุ่มที่เป็น NPL และกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่เป็น NPL แต่มีสัญญาณอ่อนแอ ให้สามารถประคองตัว รักษาสินทรัพย์สำคัญกับความมั่นคงของครอบครัว ป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงขึ้น
“ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 เศรษฐกิจจะอ่อนแรงลง และมีโอกาสที่อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 1% ส่วนมูลค่าการส่งออกอาจหดตัวกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปี 2569 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 2%”นายผยง กล่าว
นายผยง กล่าวอีกว่า ในปี 2568 ธนาคารฯขับเคลื่อนองค์กร ภายใต้แนวคิด “Corporate Value Creation เสริมทักษะ สร้างคุณค่า สู่อนาคต” เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์หลักที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน บริหารจัดการความเสี่ยงจากคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพของพนักงาน ซึ่งเป็นหัวใจขององค์กร พร้อมให้ความสำคัญกับ Stakeholders ได้อย่างครอบคลุมและสมดุล โดยล่าสุดธนาคารฯและกลุ่มพันธมิตร ได้รับใบอนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการร่วมมือเชิงกลยุทธ์ สร้างสรรค์บริการทางการเงินที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในรูปแบบเดิม ใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำอย่างตรงจุด สนับสนุนเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนให้เข้าสู่ระบบ ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพให้กับประเทศ นำไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตที่แข็งแกร่งในอนาคต ท่ามกลางแรงกดดันอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย และผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารในด้านการเติบโตและคุณภาพของสินเชื่อ
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2/2568 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 ธนาคารฯจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง บริหาร NPL ได้ดีที่ 2.94% เทียบกับ 2.99% จากสิ้นปี 2567 ที่ผ่านมา รักษา Coverage Ratio ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ 194.1% รองรับสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง โดยธนาคารฯมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารฯ 11,122 ล้านบาท ลดลง 5.1% จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าฟื้นตัวได้ ในขณะที่สินเชื่อเติบโต 4.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2567 จากสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อภาครัฐ และมี Cost to Income ratio ที่ 42.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1/2568
ขณะที่โดยรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก 2568 เทียบกับช่วงครึ่งปีแรก 2567 ธนาคารฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานลดลง 1.1% จากสภาวะดอกเบี้ยและการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองลูกค้า แม้ว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงเติบโต ธนาคารฯบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี Cost to Income ratio เท่ากับ 41.3% และตั้งสำรองฯในระดับที่เหมาะสม โดยมีกำไรส่วนที่เป็นของธนาคารฯเท่ากับ 22,836 ล้านบาท ลดลง 2.7%
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี