“โรคคาวาซากิ” หรือ ที่มีชื่อเล่นว่า “ไข้หัดญี่ปุ่น” หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับโรคนี้ ผู้ปกครองบางท่านบอกหมอว่า น่าจะเรียกโรคไข้มอเตอร์ไซค์ เพราะชื่อเดียวกับมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่ง จริงๆ แล้วโรคนี้ได้รับการรายงานครั้งแรกในโลกโดย ดร.โทมิซากุ คาวาซากิ (ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับรถมอเตอร์ไซค์แต่อย่างใด) ในปี พ.ศ. 2510 และได้รับการรายงานผู้ป่วยโรคนี้รายแรกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2519 หรือเมื่อ 40 ปีก่อน โรคคาวาซากิหรือไข้หัดญี่ปุ่นต่างจากโรคหัดธรรมดา โรคหัดเยอรมัน เพราะโรคคาวาซากิ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ โรคนี้ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด และอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเกิดการอักเสบและโป่งพองได้ในผู้ป่วยบางราย จนทำให้ปัจจุบันโรคคาวาซากิเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคหัวใจที่เป็นภายหลัง (acquired heart disease) ของผู้ป่วยเด็กในประเทศที่พัฒนาแล้ว
ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคคาวาซากิ
โรคนี้มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี พบมากในเชื้อชาติเอเซียโดยเฉพาะชาวเอเซียตะวันออก ในประเทศญี่ปุ่นพบมากที่สุด ราว 1 คนในเด็กญี่ปุ่น 100 คนที่อายุน้อยกว่า 5 ปี จะเป็นโรคคาวาซากิ ส่วนประเทศไทยพบเด็กเป็นโรคนี้ประมาณ 14.5 คน ต่อเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 100,000 คน นอกจากนี้จะพบในเด็กชายมากกว่าเด็หญิง
เมื่อไหร่จะสงสัยว่าเป็นโรคคาวาซากิ
อาการสำคัญคือไข้มากกว่า 5 วัน ไข้สูง ไข้มักจะไม่ลงเมื่อให้ยาลดไข้ (39-40°C) ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจมีอาการเหมือนไข้หวัดทั่วไป หรือกระเพาะอาหารอักเสบ มีเบื่ออาหารคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียได้ แต่อาการไข้มักไม่ดีขึ้นภายใน 5 วัน ร่วมกับมีความผิดปกติอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่
- ตาแดง
- มีปากแดงแห้งแตกหรือมีลิ้นแดงเป็นตุ่มคล้ายผลสตรอเบอร์รี่
- ผื่นแดง
-มีหลังมือและหลังเท้าบวมแดง และลอกในระยะต่อมา
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
การรักษาอย่างไร
กรณีที่แพทย์ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคาวาซากิ ผู้ป่วยจะรับการรักษาในโรงพยาบาลโดยจะได้รับยาอิมมูโนกลอบบุลิน (immunoglobulin) ซึ่งเป็นภูมิต้านทานสำเร็จที่สกัดจากน้ำเหลือง ให้ทางเส้นเลือด และยาแอสไพริน หลังได้รับการรักษาส่วนใหญ่ไข้มักจะหายภายใน 1-2 วัน
ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจหรือเอคโค่ ภายใน 2 สัปดาห์แรก เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจโดยเฉพาะหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจโป่งพอง ซึ่งพบได้ถึง 20% ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาภายใน 10 วันแรกของไข้ หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจะลดความเสี่ยงของความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงโคโรนารี่ได้ถึง 5 เท่า
เนื่องจากโรคคาวาซากิยังไม่สามารถป้องกันได้เพราะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ฉะนั้นการเฝ้าระวังและพาบุตรหลานของท่านที่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวมา เพื่อมาตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ทันท่วงทีจะลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคได้
แพทย์หญิง พญ.ศรัยอร ธงอินเนตร
กุมารแพทย์ ศิษย์เก่าแพทย์ มศว
อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ ผ่าน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์ มศว
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เลขที่บัญชี 283-212990-9
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี