จากเด็กสาวที่รักในการร่ายรำและศิลปะการแสดง สู่บทบาทที่หลากหลายในละครโทรทัศน์ วันนี้ “สุกัญญา นาคสนธิ์” ได้กลายเป็น “ครูแอ๊ว” ของลูกศิษย์หลายๆ คน ในวงการบันเทิง กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องฟันฝ่าอะไรมาบ้าง สัปดาห์นี้ “สตาร์เรโทร” ขอนำทุกท่านร่วมย้อนวันวานไปกันเธอ
ปัจจุบันอยู่เบื้องหลังเป็นแอ๊กติ้งโค้ชสอนการแสดง และเปิดสอนอยู่ด้วยค่ะ เริ่มสอนการแสดงมาตั้งแต่เรื่อง “ร่มฉัตร” ซึ่ง “พี่ไก่-วรายุฑ” เป็นคนดึงเข้ามาทำ เราก็บอกว่าเราอยากเล่นมากกว่า พี่ไก่อยากให้ลองดูก่อน ถ้าไม่ไหว ค่อยว่ากัน ก็ไปดู “นุ่น-
สินิทธา” ซึ่งยังใหม่มากในตอนนั้นดู “ปู-กนกวรรณ” ด้วยสัญชาตญาณของเรา คือเราเล่นละครรำมาก่อน ชินกับผ้าโจงก็เห็นนุ่นเขาเดินไม่สวย เดินสบายเกิน เราก็เข้าไปบอก และอธิบายให้เขาฟัง แรกๆ ก็มีงงๆ ว่าเราบอกทำไม เพราะว่าสมัยก่อน ไม่มีแบบ คือทั้งหมดนั้นเราใช้ประสบการณ์ทางการแสดงที่เราเล่นมาตั้งแต่ ปี 2512 ซึ่งประสบการณ์ของแอ๊วมาจากผู้ใหญ่ สมัย “ครูทัต-เอกทัต” ช่อง 4 บางขุนพรหม เจอ “พ่อสมพงษ์ พงษ์มิตร” “น้าสะอาดเปี่ยมพงศ์สานต์” เราเจอรุ่นใหญ่ๆ คู่กับเขามาโดยตลอด เหมือนอาศัยครูพักลักจำ เราก็ดูว่ามันใช่ตัวตนของการแสดงไหม ตอนนั้นเล่นละครของนาฏศิลป์สัมพันธ์ช่อง 4 ของ “ครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี” เรียกว่าตอนที่มาเป็นแอ๊กติ้งโค้ชแรกๆ นักแสดงส่วนใหญ่จะงงว่าคืออะไร ทำไมต้องมีแบบนี้ แต่ว่าก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งของ “คุณแหม่ม- ธิติมา”, “พี่ก้อย-ทาริกา” ตอนนั้นเรื่อง “นางบาป” ก็คอยดู “เอ๊ะ” กับ “เบนซ์” ของพี่แหม่มจะเจอนักแสดงรุ่นใหม่ แล้วก็มี “จอย-รินลณี” เรื่องกัลปังหา “ดอม เหตระกูล” ซึ่งดอมต้องเล่นเป็นแฝด 3 คน
กลุ่มพาวเวอร์ทรี ถูกเคี่ยวโดยครูแอ๊ว
ยุคนั้นเจอ ปอ-ทฤษฎี, แพท-ณปภา, มะปราง, โกสินทร์, วุฒิ ซึ่งแต่ละคนคือเล่นอยู่ในเรื่องเดียวกันด้วย จับมาติวกันเป็นคู่ๆ เราก็ดู ปอ-แพท และมี “คุณโอ๋-อานนท์” มาร่วมติวด้วย แล้วค่อยเอามายำรวมกัน หลังจากนั้นคือได้ดูปอมาเรื่อยๆ ในละครของพี่แหม่ม ถึงแม้ว่าเขาจะเก่งแล้ว แต่เราก็ยังทำหน้าที่ของเราอยู่ และเราก็ไม่ได้ดูแต่เฉพาะตัวพระ-นางจะดูทุกคนแม้กระทั่งตัวประกอบ เพราะว่าทุกคนจะต้องเล่นด้วยกันในฉาก ตัวประกอบบางครั้งมันเสียเวลาไม่ได้ พระ-นางเขาเล่นได้แล้ว ตัวประกอบก็ต้องเล่นได้ด้วย
อยากเล่นละครอย่างเดียว แต่ต้องมาเป็นแอ๊กติ้งโค้ช
การแสดงเลยลดน้อยลงค่ะ แต่ก็มีบ้างที่ไปรับเชิญ คือยังไงเราก็คิดถึงหน้าจอ ยังอยากเล่นละครอยู่ ก็เลยไปแจมบ้าง อย่างเรื่อง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” พอเราออกไปเพื่อนๆ เขาก็เอามาเล่าให้ฟัง คือเขาเห็นในเฟซบุ๊ค คนเขาพูดกันว่าคนนี้คือใคร แต่เขารู้สึกว่าเราต้องเป็นคนสำคัญ ก็เลยมีคนเขียนตอบกลับไปว่าไม่รู้เหรอว่าคนนี้คือใคร เขาเล่นละครมานานแล้ว ก็รู้สึกดีใจค่ะที่อย่างน้อยมีคนพูดถึง และจำเราได้ เด็กใหม่อาจจะไม่รู้จัก แต่พ่อ-แม่เขาต้องรู้จักเราแน่นอน
การเดินทางของชีวิต ที่กว่าจะถึงวันนี้
เป็นลูกแม่ค้าขายขนมค่ะ แล้วมาเรียนรำละคร แต่เรียนไม่เท่าไหร่ “ครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี” ก็ดึงออกมาให้มาเล่นเป็นตัวสแตนด์อินของ “กนกวรรณ ด่านอุดม” คือเล่นเป็นฝาแฝด เขาก็ให้เรามายืนแล้วเห็นข้างๆ เพราะว่าหน้าเราจะคล้ายเขา บางทีละครออนแอร์มายังงงเลยว่าเราหน้าไหน (หัวเราะ) เล่นเรื่องเลือดโจร สมัยนั้นครูทัศน์ กำกับ เป็นละครช่อง 4 หลังจากนั้นก็ได้เล่นละครต่ออีกเรื่อยๆ เรื่องที่เด่นๆ ก็มี “ผู้ชนะสิบทิศ” เล่นเป็น “เชงสอบู” หนึ่งในนางเอก แล้วก็เล่นมาเรื่อยๆ ทุกช่อง ทั้งช่อง 5 ช่อง 7 และมาถึงช่อง 3 บทบาทที่ได้รับก็จะหลากหลาย บทร้ายก็เล่นค่ะ อย่างเรื่อง “คุณหญิงนอกทำเนียบ” ก็เล่นเป็นน้องสาวของ “คุณลินดา” น้ำผึ้งขม, น้ำตาลไหม้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการพลิกบทบาทพอสมควร เพราะว่าเล่นเป็นพาร์ทเนอร์ ตอนนั้นพี่ไก่จับแต่งตัวเปรี้ยวเซ็กซี่มาก เปลี่ยนลุคไปเลย
เส้นทางฝึกฝนการแสดง
ต้องบอกว่าไม่ได้ฝึกเลยค่ะ แล้วครูพักลักจำก็ไม่เชิงนะ เหมือนว่าเรารัก และเราเชื่อที่จะทำ เราก็เลยเล่นออกมาได้ ทุกวันนี้จะสอนทุกคนว่าคุณต้องรักและเชื่อที่จะทำมัน โอเคว่ามันคนละยุคกัน แต่ถ้านับ 5-4-3 เมื่อไหร่ “สุกัญญา นาคสนธิ์” ไม่ได้ยืนอยู่ตรงนั้นนะ ตัวแสดงยืนเราเป็นตัวนั้นไปแล้ว บางทีต้องพูดบทครึ่งหน้า เขาก็สงสัยว่าเราจำได้ยังไง คือก็ไม่รู้เหมือนกัน
กับบทบาทการเป็นผู้จัดละคร
ทำละครตอนเย็น ในช่วงปี 2529 ค่ะ ทำละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วพี่ไก่ก็มาทำเสื้อผ้าให้ เรื่องแรกได้ “พี่นก-ฉัตรชัย” มาเล่นด้วย แต่สมัยนั้นไม่มีบอกบทแล้วนะ เป็นแนวอภินิหาร ก็ได้ทำอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง ตอนนั้นเจ้านายคือ “คุณประวิทย์” ชวนให้มาทำ แต่ตอนแรก เราก็ไม่กล้าทำ คือเห็นตั้งแต่สมัยพี่ๆ ทำมาแล้ว ซึ่งเป็นละครสด เราเห็นทุกคนซีเรียส แต่นายก็บอกว่าไม่ลองจะรู้เหรอ เราก็เลยลองดู แต่ด้วยพลังเราไม่พอ ก็เลยได้ทำเท่านี้ สำหรับการเป็นผู้จัดฯ
“ครูแอ๊ว” ของนักแสดง
ก่อนหน้านี้คือไม่คิดว่าจะต้องมาเป็นครูนะคะ คือเราทำเพราะว่าเรามีความสุข เราแนะนำตั้งแต่รุ่นใหญ่ๆ “นก-ฉัตรชัย” “นก-สินจัย” เออ...เขาฟังเรา แล้วก็มาเจอรุ่นกลางเด็กรุ่นนี้ก็ยังฟังเรา ใช้ความสำคัญของการที่จะแสดงออกไป แล้วพอมาตอนนี้เป็นเด็ก
รุ่นใหม่บางทีเราก็มีความรู้สึกว่าเขาเข้ามาเพื่องาน เพื่อรายได้ ยุคเปลี่ยนไป แต่เราก็ถือว่าเรามีหน้าที่ และเรารักที่จะให้ในสิ่งที่คุณไม่รู้ บางทีเราดูมอนิเตอร์ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ตัวแสดงสามารถมีอะไรได้อีก เราจะบอก เรารักที่จะให้ (วิธีการบอกการสอนของครูแอ๊วมีในตำราไหม ?) ไม่มีค่ะ สิ่งแรกเลยเราจะให้เขาเริ่มอ่านหนังสือ อ่าน ร เรือ ล ลิง เริ่มสตาร์ท แล้วเราก็จะจับเสียง สอนเว้นวรรคสอนการออกเสียง อย่าง “จอย-รินลณี” ยังขำเลย ตอนที่เจอเขาครั้งแรกอ่านหนังสือแล้วเสียงแหลมมาก เราก็บอกเขาว่าเหมาะที่จะเป็นนางร้าย เขาบอกว่าไม่ใช่นะ เขาเป็นนางเอก ระยะเวลาผ่านไป วันหนึ่งเขาก็โทร.มาบอกว่าเขาได้เล่นเรื่อง “มงกุฎดอกส้ม” ที่เล่นเป็นคนจีน ทีแรกเราก็ถามไปว่าเล่นเป็นนางเอกเหรอ เขาก็บอกว่าเปล่า เล่นเป็นตัวร้าย (หัวเราะ) แต่จอยกับเรานี่คือสนิทกันอยู่แล้ว ล่าสุดก็เพิ่งเจอกันในเรื่อง “เจ้าบ้านเจ้าเรือน” ส่วนรุ่นใหม่ๆ ก็มี ณเดชน์, หมาก, มิ้นท์-ณัฐวรา ตอนที่เขาจะมาเล่นเรื่องแรก
ลูกศิษย์ที่ครูแอ๊วภูมิใจ
อย่าง “ปอ-ทฤษฎี” ก็ภูมิใจนะคะ เขาเป็นคนตั้งใจ แต่ตอนแรกที่เจอกันสิ่งแรกที่ทำคือคุยแล้วก็แก้บุคลิกให้เขา ดูว่าบุคลิกในตัวเรื่องเขาเล่นเป็นใคร วอร์มเขาใหม่ให้เขาอ่านบทและเป็นคนนั้นให้ได้ ส่วน “แพท” เรื่องแรกเขาก็เป็นลิงเลย เขาเป็นคนกล้าลูกบ้าเยอะ แล้วเขาก็เคยผ่านโฆษณามาแล้ว เราก็จะเช็คลิมิตของนักแสดงว่าเขาทำอะไรให้เราได้บ้าง ถ้าเขาทำได้แค่นี้เราก็จะมีเทคนิคของเราเพิ่มเติม เราต้องเปลี่ยนเขาไปเรื่อยๆตามคาแร็กเตอร์ในเรื่องนั้นๆ อย่างที่ปอเล่นเป็นฝาแฝดในเรื่อง “รักเล่ห์เสน่ห์ลวง” ก็จะบอกเขาว่าให้ระวังเวลาที่ฝาแฝดเจอกัน ถ้าเขาโทรศัพท์คุยกัน เสียงเราต้องแก้ไขนะบุคลิกคนละคน บางทีเด็กอาจจะมองว่าเราละเอียดทำไม แต่ถ้างานออกไปเขาเข้ามาดูมอนิเตอร์เขาก็ขอบคุณเรา กับณเดชน์ตอนนั้นเขาเหมือนเริ่มใหม่เลยมาแบบว่างเปล่าแล้วมาสุ่มสอน สอนในสิ่งที่ชีวิตเขายังไม่เคย เขาไม่เคยเป็นผู้ใหญ่ เพราะในอายุของเขาต้องเล่นบทโตกว่าตัวเอง แล้วพอตอนที่เขามาเจอกับญาญ่า ใน “ดวงใจอัคนี” เราก็จะบอกเขาในเรื่องวิธีการคิด มองแล้วคิดอะไรยังไง อย่างล่าสุดมาเจอวุฒิ ในเจ้าบ้านเจ้าเรือนเขาก็เข้ามาคุยเรื่องณเดชน์ ชื่นชมฝีมือการแสดงของณเดชน์ให้เราฟัง พอเราบอกว่าเราสอนณเดชน์ด้วย เขาก็ร้องอ๋อทันที เพราะเขารู้สึกได้ในเทคนิคบางอย่างที่เหมือนๆ กับที่เขาเคยได้รับมา คือคนเรามาจากครูเดียวกัน ส่วนจอย-รินลณี เขาเป็นเด็กที่ฟัง พูดเลยว่าจอยวันนั้นกับวันนี้จอยเหมือนเดิมกับครู ความน่ารักนอบน้อมของเขา “ขวัญฤดี กลมกล่อม” ก็ไม่เชิงว่าสอน พอดีว่าเราไปทำของพี่แหม่มแล้วขวัญเขาเล่นเป็นเพื่อน “ตุ๊ก-จันทร์จิรา” แล้วเราเป็นคนไม่ปล่อย เราก็ทำหน้าที่ของเราในละคร พอมาเจอที่กองเจ้าบ้านเจ้าเรือนเขาก็เข้ามากราบบอกว่าดีใจที่ได้เจอครู ในเรื่อง “เชลยศักดิ์” ที่เราเล่นเป็นสีโบซึ่งเขาก็เอามาทำใหม่หลายครั้ง แต่มีคนมาทักเราว่าดูมาหลายครั้งแล้วรู้สึกว่าคุณคือสีโบจริงๆ เราก็ขอบคุณเขาไปโดยที่เราก็ไม่รู้จักเขาหรอก และมีครั้งหนึ่งแอ๊วไปงานศพแล้วมีผู้หญิงเดินเข้ามาจับมือเราแล้วเรียกแฟนมาด้วย เขาก็บอกว่าถ้าเมื่อไหร่ที่ละครมีชื่อ สุกัญญา นาคสนธิ์ เขาจะดูเพราะอย่างน้อยในหนึ่งตอนจะต้องมีเราเล่น เขาจะตามดูทุกเรื่อง
ฉากหนึ่งในละครที่ภูมิใจ
ในเรื่อง “ธรณีนี่นี้ใครครอง” พี่ดุ๊กเล่นเป็นพ่อณเดชน์ พี่เวนซ์เป็นน้องชาย 2 คน เจอกันตอนซ้อมเขาทักทายกันตามปกติ เราก็จะบอกว่าพี่ดุ๊กคะแอ๊วขอนะ เพราะว่าคุณไปตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบ ขโมยเงินแม่แล้วไปเลย พอยี่สิบปีผ่านไปก็ส่งลูกชายมา จนแม่ตายแล้วคุณก็กลับมาเจอพี่เวนซ์ที่เป็นน้องแล้วทักทายกันธรรมดามันไม่ใช่นะ คือจากการมองกันมันก็ต้องมีความเคอะเขินนะ เราไปด้วยความผิดและเสียใจก็เลยส่งพระเอกที่เป็นลูกชายมาขอโทษแม่ พี่น้องก็พูดคุยกันมองหน้ากันและจับมือกันพร้อมร้องไห้ ณเดชน์ยืนดูนี่ถึงกับอึ้งเลย เราเข้าใจว่าเราแค่บอกนิดหน่อยเขาก็จะเล่นต่อไปได้เอง ด้วยประสบการณ์ของเขา แล้วพอเขาเล่นและได้มานั่งดูมอนิเตอร์ รวมทั้งพี่แหม่มที่นั่งทำงานอยู่ก็มาดูด้วย จนเอ่ยปากเลยว่าพี่ดุ๊กใจร้ายเล่นขนาดนี้เลยเหรอ พี่ดุ๊กก็บอกว่าพี่แอ๊วบอก ก็จะมีฉากแบบนี้บ่อยๆ ที่เป็นสำคัญของเรื่องที่เราคอยเติมคอยบอกให้เขาขยี้ เพราะเรารู้ว่าโดยศักยภาพแล้วนักแสดงเขาทำได้อยู่แล้ว แต่เขาอาจจะนึกไม่ถึงว่าจะต้องเอามันออกมา
ความสำคัญของแอ๊กติ้งโค้ชกับละครไทย
แอ๊วว่ามันก็น่าจะสำคัญนะ แต่บางคนเขาก็มองว่าไม่เป็นไร เด็กบางคนมาเล่นได้ คือเล่นได้จริง แต่มันใช่แล้วหรือยัง เราดูละครบางคนเล่นหน้าเดิมทุกเรื่องทุกฉาก อย่างน้อยถ้ามีแอ๊กติ้งโค้ชก็จะได้ช่วยดูอารมณ์ในตรงนี้ให้ได้ ซึ่งมันก็จะแล้วแต่ครูผู้สอนด้วย และเด็กอาจจะงงว่าทำไมครูสอนไม่เหมือนกัน เราก็บอกว่าเหมือนเราเรียนหนังสือเวลาครูสอนเลข ก็แล้วแต่ว่าเขาจะเอาอะไรมาสอน เพราะว่าทุกจุดมันไม่ได้ใช้พร้อมกัน แต่เมื่อไหร่ที่จะต้องใช้เราก็จะเอาตรงนั้นออกมา (เหมือนผู้ปิดทองหลังพระ?) ประมาณนั้น ในความเป็นครูของเรา เราก็นึกถึงพวกรุ่นเก่าๆ มาเป็นฐานว่าทำไมนักแสดงรุ่นพ่อที่เราเรียกที่เราเคารพเขาเนี่ยทำไมเขาทำได้
อยากจะทำอะไรอีกไหมในวงการบันเทิง
มันสุดหมดแล้วค่ะ สอนคนแล้ว สอนคนที่จะเป็นพระเอก-นางเอก แค่เรามองเขาที่เราอยู่จุดนี้ เจอกันจะทักจะไหว้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร คุณจะดังจะมีงานแค่ไหนเราก็ยังอยู่ของเราได้ แล้วถ้าวันหนึ่งเขาได้รับรางวัลได้รับเสียงชื่นชมในฝีมือการแสดง แค่นี้เราก็ปลื้มใจแล้วค่ะ ผู้ปิดทองหลังพระโดยแท้ (หัวเราะ) แต่เพื่อนบอกว่าแอ๊วเธอปิดทองใต้ฐานพระเลยนะ ต้องไปพลิกถึงจะเห็น ลูกศิษย์ในวงการก็เยอะพอประมาณ เวลาเห็นเขาออกหน้าจอทีวี.เห็นพัฒนาการทางการแสดงของเขาเราก็ดีใจ ล่าสุดไปเล่นเจ้าบ้านเจ้าเรือนเข้าฉากกับจอย พี่ไก่เขาก็เลยจับถ่ายรูปคู่กันแล้วโพสต์ลงโซเชียลของเขา ก็เห็นว่ามีลูกศิษย์นักแสดงเข้ามาทักทาย ฝากความนึกถึงมากมายเลย ซึ่งเราเป็นคนที่ไม่เล่นโซเชียลอยู่แล้วไงคะ แต่ได้ยินแค่นี้เราก็ปลื้มใจแล้วค่ะที่ทุกคนยังคิดถึงเราอยู่
บทบาทที่ประทับใจ
ก็มี “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” ที่คนพูดถึง ย้อนไปอีกหน่อยก็มีเรื่อง “เชลยศักดิ์” และ “น้ำตาลไหม้” ที่เล่นเป็นสาวพาร์ทเนอร์
ในบทต้องสนิทเคลียคลอกับ “ตู่-นพพล” ตอนนั้นเราเพิ่งคลอดลูกได้ 3 เดือน พี่ไก่ก็แต่งตัวซะ แล้วหุ่นนี่คือสะพรั่งเลย จนมีคนมาถามว่าเราอยู่ผับไหนบาร์ไหน (หัวเราะ) คือแอ๊วไปทักผู้หญิงทุกคนที่เป็นตัวประกอบในบาร์ ถึงเขาไม่ใช่ตัวละครที่แสดงเป็นตัวเอกก็จริง เรียกว่าเราก็ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกตคน ว่าแต่ละอาชีพเขาอะไรยังไงบ้าง เพราะว่าสักวันหนึ่งมันจะต้องมีในบทละคร เด็กรุ่นใหม่เราก็จะบอกเหมือนกันว่าให้หัดมองสิ่งที่อยู่รอบตัวบ้าง เช่นเวลาคนร้องไห้มากน้อยเขาร้องเพราะอะไร ดีใจก็สามารถร้องไห้ได้ทุกอย่างคืออารมณ์ แต่เราจะไม่โมโหเด็กรุ่นใหม่ ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนทุกรุ่น ในกองมันเป็นหน้าที่ของเรา และถ้าคนไหนที่ไม่ทำตามเราก็จะขอโทษเขาและบอกให้เขาช่วยทำแบบนี้หน่อย
อีกหนึ่งความภูมิใจของคนเป็นแม่
คงจะเป็นลูกชายค่ะ ซึ่งเมื่อก่อนเขาก็เคยมาแจมๆ ในละครบ้าง เราต้องการให้เขาเข้ามาเพื่อรู้รสชาติของความเหนื่อย ตอนนั้นเขายังเรียนหนังสืออยู่ แล้วเขาก็ไปเม้าท์ให้เพื่อนฟังว่าเพิ่งรู้ว่าแม่เหนื่อยแค่ไหน และมันก็ไม่ใช่สายงานที่เขาชอบ ตอนนี้ก็ไปทำงานบริษัทญี่ปุ่น เราก็โล่งอกและเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ถูกลิขิตให้มาอยู่ตรงจุดนี้ (เขาห่วงอะไรคุณแม่บ้าง ?) จะคอยโทร.ถามตลอดว่าแม่อยู่ไหนกินข้าวหรือยัง เจอกันก็กอดหอมเราโดยไม่อาย บางทีไปเดินซื้อของกันก็จะกอดแม่ หลานเดินตามหลังยังบอกเลยว่ามีคนมอง ลูกชายเขาจะดูแลแม่อย่างนี้เสมอ เราก็ให้พรเขา คืออย่างน้อยลูกไปที่ไหนก็มีคนชม แม้แต่คนข้างบ้านเขาก็ยกมือไหว้สวัสดีทักทาย อาจจะด้วยความที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เราจะบอกเขาเลยว่าอยู่ในบ้านเล่นกับแม่ได้จับไหล่ได้ แต่เวลาอยู่ข้างนอกห้ามเล่น เพราะคนข้างนอกเห็นเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะมองยังไง มีคนชมให้เราฟังบ่อยๆ เราก็ปลื้มใจ (ยังไม่อยากอุ้มหลานเหรอคะ ?) เฉยๆ ก็แล้วแต่เขา คือเขาก็มีแฟนนะ เราก็จะสอนเขาเสมอว่าชีวิตเขาให้เขาตัดสินใจเอง เราไม่กะเกณฑ์ให้เขา เพราะเรามีเขาตอนอายุ 29 เราทำงานสู้ชีวิตมาเยอะกว่าเด็กผู้ชาย เพราะฉะนั้นคุณต้องไปสู้เอง ให้เขาเรียนรู้เอง ไม่เคยด่าว่าหรือโมโหลูก เพื่อนยังเอาเทคนิคการเลี้ยงลูกแบบเราไปใช้เลย
คติในการดำเนินชีวิต
เมื่อตื่นขึ้นมาต้องดีใจว่าได้มีชีวิตอยู่ คนเราอยู่แค่การหายใจ คนเราอยู่แค่ว่าได้ตื่นมาแล้วรู้สึกว่าฉันยังไม่ตาย แอ๊วจะพนมมือขอบคุณที่ยังให้เราอยู่ เพราะว่าแอ๊วเป็นคนหลับง่ายไปนอนที่ไหนก็หลับเร็ว คนเราแค่หายใจกับไม่หายใจแค่นั้น เมื่อไหร่เจอกันเมื่อไหร่จากกัน เราก็จะสอนลูกเลยว่าอะไรอยู่ตรงไหน อะไรที่ต้องทำ ใครๆ บอกว่าเราเยอะไปไหม เราคิดว่าไม่นะ การที่เราบอกไว้ก่อน ก็เพื่อที่ว่าเผื่อเราเป็นอะไรไปมันทำอะไรไม่ได้นะ ก็ได้มาจากแม่ค่ะ ตอนพ่อป่วยแม่ก็ไปจองวัดเตรียมสถานที่ ทุกคนก็หาว่าแม่แช่งพ่อ พอพ่อไปปุ๊บแม่อาบน้ำอาบท่าไปวัด หลวงพ่อก็พร้อม แล้วแม่ก็ไม่ร้องไห้ด้วย
“แค่เรามองเขาที่เราอยู่จุดนี้ เจอกันจะทักจะไหว้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร คุณจะดังจะมีงานแค่ไหนเราก็ยังอยู่ของเราได้ แล้วถ้าวันหนึ่งเขาได้รับรางวัลได้รับเสียงชื่นชมในฝีมือการแสดง แค่นี้เราก็ปลื้มใจแล้ว” และนี่คือ “สุกัญญา นาคสนธิ์” ผู้ที่ทุกลมหายใจมอบให้กับศิลปะการแสดง
กุหลาบสีเงิน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี