“ทีมข่าวบันเทิงแนวหน้า” ยังคงนำ “คุณผู้อ่าน” สำราญไปกับความอลังการที่เรานำมาเสนอให้กับท่านผู้ที่ชื่นชอบ ศิลปินดารา นักร้องเก่า มาให้หวนรำลึกถึงวันวาน
แหละนี่คือช่วงเวลาของการฉลอง 74 ปี ให้กับวงดนตรีที่มีคนรู้จักหัวหน้าวงในระดับโลก ครูเอื้อ สุนทรสนาน ท่านเป็นทั้งศิลปินแห่งชาติ และบุคคลดีเด่นด้านวัฒนธรรมของโลก ที่คนไทยยอมรับกับความเป็นสุดยอดของศิลปินอย่างแท้จริง
ซึ่ง“บันเทิงแนวหน้า” กับ “มูลนิธิสุนทราภรณ์” โดย “หมึกดำ” บรรณาธิการฝ่ายข่าวบันเทิง กับ คุณอติพร สุนทรสนานเสนะวงศ์ ขอส่งความสุขให้กับ แฟน RETRO เปิดตัวศิลปินที่นับเป็นสมาชิกทั้งการก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ หลากหลายรุ่นมาให้อ่าน โดยสัปดาห์นี้พบกับ..
มัณฑนา โมรากุล ปัจจุบันมีชื่อจริงว่า มัณฑนา เกียรติวงศ์(30 มีนาคม พ.ศ. 2466 ) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) ประจำปีพุทธศักราช 2552 อดีตนักร้องหญิงคนแรกของวงดนตรีกรมโฆษณาการและนักร้องรุ่นแรกของวงสุนทราภรณ์
มัณฑนา โมรากุล เกิดที่วังสวนสุพรรณที่พำนักของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร (เป็นที่ประทับตามพระนามพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์กรมขุนสุพรรณภาควดี) เป็นบุตรีคนที่ 4 ในจำนวน 6 คนของหลวงสิริราชทรัพย์ (ชัย โมรากุล) (2439 -2504) ข้าราชการกรมบัญชีกลาง กับ นางผัน โมรากุล (สกุลเดิม เครือสุวรรณ)ซึ่งเป็นครูละครในวังสวนสุพรรณ
ชื่อของ “มัณฑนา” นั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง ครั้งแรกเมื่อเกิด เป็นเวลาที่บิดาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากขุนขึ้นเป็น หลวง เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จึงเมตตาตั้งชื่อให้ว่า “เจริญ” เพราะเกิดมาพร้อมกับความเจริญของบิดา
ในช่วงหนึ่งได้มีโอกาสเล่นละครร่วมกับ “คณะบรรทมสินธุ์” ของ พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ท่านจึงให้ชื่อสำหรับใช้เล่นละครว่า “แสงจำเริญ” ต่อมาได้ไปฝึกการขับร้องเพลงกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ (พ.ศ.2482) จึงเปลี่ยนชื่อให้เป็น “จุรี” และครั้งหลังที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น “มัณฑนา” (พ.ศ.2485)
“มัณฑนา” ได้ฝึกร้องเพลงครั้งแรก กับ “มิสแมคแคน” ที่ในโบสถ์พระคริสต์ จังหวัดนครศรีธรรมราช และเริ่มหัดร้องเพลงไทยเดิมกับ ครูเจอ บุรานนท์ (มารดาของ สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต)ที่ในวังสวนสุพรรณ ภายหลังเกิดแรงบันดาลใจจากการขับร้องเพลงไทยสากลของ จำรัส สุวคนธ์ บวกกับมีความชื่นชอบในการขับร้องเพลงไทยสากลอยู่แล้ว จึงได้ฝึกหัดขับร้องเพลงไทยสากลอย่างจริงจัง จาก ครูสกนธ์ มิตรานนท์, ครูเวส สุนทรจามร และครูสริ ยงยุทธ ซึ่งเป็นครูเพลงของ “วงสุนทราภรณ์” รวมถึงฝึกฝนด้วยตนเองด้วย
ด้านการศึกษาได้รับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา แต่จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เพราะฐานะทางบ้านไม่อำนวย จึงได้แต่หัดร้องเพลงกับ ครูสกนธ์ มิตรานนท์ และครูพิมพ์ พวงนาค โดยเล่นละครวิทยุกับคณะจารุกนก อยู่ระยะหนึ่ง
จนมีโอกาสได้บันทึกเสียงเพลงไทยสากลเพลงแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 กับ ห้าง ต. เง็กชวน คือเพลง “น้ำเหนือบ่า” แต่งโดยครูพิมพ์ พวงนาค ซึ่งขายดีมากจนห้าง ต. เง็กชวน ผลิตออกจำหน่ายหลายครั้งด้วยกัน
ต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปขับร้องเพลงในงานวันประสูติ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2483
ครั้งนั้น “มัณฑนา” จึงได้รับการชักชวนจาก พันตรีวิลาส โอสถานนท์ อธิบดีกรมโฆษณาการในขณะนั้น ให้ไปเป็นนักร้องของวงดนตรีโฆษณาการในวันถัดมา ขณะนั้นมีอายุเพียง 16 ปีเท่านั้นจึงยังบรรจุเป็นข้าราชการไม่ได้ ต้องบรรจุในตำแหน่งพนักงานวิสามัญ (ลูกจ้าง) ก่อน จนมีอายุครบตามกำหนดจึงได้เลื่อนเป็นนักร้อง นับเป็นนักร้องหญิงคนแรกของวง
ในช่วงที่รับราชการในกรมโฆษณาการ “มัณฑนา” ได้ขับร้องเพลงปลุกใจ และเพลงพระราชนิพนธ์ รวมถึงเพลงไทยสากลประเภทต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากกว่า 200 เพลง
ลักษณะการร้อง เธอเป็นนักร้องหญิงคนแรกๆ ของไทยที่นำการใช้ลูกคอแบบตะวันตกมาใช้ร้องในเพลงไทย เพื่อช่วยการร้องให้เกิดเสียงสูง เรียกว่า “เสียงสมอง”
โดยเธอได้เล่าให้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ ฟังว่า หัดด้วยตนเองด้วยการดำน้ำลงไปใช้ลูกคอ จนแทบจะจมน้ำตายหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังได้รับหน้าที่โฆษกหญิงยุคต้นของกรมโฆษณาการด้วย เธออยู่กับวงดนตรีกรมโฆษณาการ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ อยู่ประมาณ 10 ปี จึงลาออกในปี พ.ศ. 2494 เพื่อสมรสกับ นายบุญยงค์ เกียรติวงศ์ มีบุตร-ธิดารวม 4 คน
ภายหลังที่ได้ลาออกจากราชการ “มัณฑนา” ได้ร่วมกับสามีทำกิจการ โรงภาพยนตร์ศรีพรานนก และ สร้างภาพยนตร์ในระยะหนึ่ง ด้านการขับร้องเพลงก็ได้กลับมาบันทึกเสียงกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ หลายครั้ง อาทิ เพลง ลาแล้วสามพราน และยังได้ร่วมขับร้องเพลงทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ในรายการพิเศษฉลองการก่อตั้ง วงดนตรีสุนทราภรณ์ครบ 20 ปี และ 25 ปี
จนถึง พ.ศ.2515 จึงเลิกขับร้องเพลงอย่างถาวรด้วยเหตุผลทางสุขภาพ และเป็นศิลปินสุนทราภรณ์คนเดียวที่มิได้กลับมาขับร้องเพลงอีกเลย ถึงแม้ว่าจะได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2552 ก็ได้มอบให้ศิลปินนักร้องรุ่นหลังๆ มาถ่ายทอดบทเพลงแทน และได้ใช้ชีวิตอย่างสงบกับบุตร-ธิดา ที่บ้านย่านพุทธมณฑล สาย 2 แต่ยังได้ปรากฏตัวตามงานคอนเสิร์ตการกุศลบ้างโดยมิได้ร้องเพลงอีกเลย คือ
l คอนเสิร์ต “ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล” จัดขึ้น ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ในโอกาสครบรอบ 72 ปี
l คอนเสิร์ต “นิมิตใหม่ ใช่เพียงฝัน 80 ปีมัณฑนา โมรากุล” จัดโดยกรมศิลปากร ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
l คอนเสิร์ตการกุศล “ย้อนเวลากับมัณฑนา โมรากุล” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในโอกาสครบรอบ 84 ปี
l คอนเสิร์ต “ดาวประดับฟ้า มัณฑนา โมรากุล ศิลปินแห่งชาติ” จัดขึ้น ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2553 ในโอกาสได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล - ขับร้อง) ประจำปี พ.ศ. 2552 และมีอายุครบ 87 ปี
มัณฑนา โมรากุล ถือว่าเป็นนักร้องเพลงสุนทราภรณ์ ถือเป็นต้นฉบับ ของนักร้องรุ่นหลังๆ แม้แต่ รวงทอง ทองลั่นทม ศิลปินแห่งชาติ และ บุษยา รังสี ยังรับเป็นแบบอย่าง
“มัณฑนา” มีผลงานที่สร้างชื่อเสียงกับ วงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งรวมอยู่ CD แฟนคลับสุนทราภรณ์ ที่ยังหาซื้อได้ในปัจจุบันทั้งเพลงเดี่ยว และ เพลงคู่ อาทิ บัวกลางบึง, วังน้ำวน,วังบัวบาน, ดอกใกล้มือ, ภูกระดึง, ผู้แพ้รัก, สิ้นรักสิ้นสุข, จันทน์กะพ้อร่วง,สาส์นรัก, ศาสนารัก, สายลมครวญ, เมื่อไหร่จะให้พบ, สาริกาชมเดือน,อาลัยลา, เรณูดอกฟ้า, หากภาพเธอมีวิญญาณ, ทางที่ต้องกลับ,ปางหลัง, ภาพลวงตา, ผีเสื้อยามเช้า, เพลินเพลงค่ำ,
นอนฝันไป ,สาวน้อยร้อยชั่ง, ดอกไม้ถิ่นไทยงาม, รักจำพราก,เด่นดวงดาว, สายลมว่าว, เพชรบุรีแดนใจ, ดอกไม้กับแมลง, ยอดสน,วิญญาณรัก, เพลงราตรี, รักเร่, เทพบุตรในฝัน, อารมณ์รัก, คำรำพัน,กลิ่นราตรี, หวนคำนึง, ผาเงอบ, รักที่ถูกลวง, ธรณีกรรแสง, เสี่ยงเทียน,ลอยลำสำราญ, ยามห่างกัน, เย็นเย็น, ปรัชญาขี้เมา, ลูกน้ำเค็ม, สนต้องลม, มาลีแดนสรวง, ดาวที่อับแสง, อาลัยรัก, ดำเนินทราย, คูหาสวรรค์, ปาริชาต, ดาวประดับฟ้า ฯลฯ..
บัวกลางบึง
ทำนอง ครูเอื้อ สุนทรสนาน
คำร้อง ครูแก้ว อัจฉริยะกุล
อนาถเหลือล้ำบัวบานเหนือน้ำอยู่ห่างคน
ลับตาอยู่จนกลางบึง
ได้แต่ชะเง้อละเมอรำพึง
เจ้าอยู่ถึงกลางบึงปล่อยให้ผึ้งเชยชม
แดดส่องผิวน้ำบัวพลอยหมองคล้ำด้วยแดดเผา
สีเจ้าก็เศร้าด้วยลม
ตกดึกน้ำน้อยนอนคอยคนชม
เจ้าต้องคลุกโคลนตม กลีบที่บ่มโรยรา
บัวน้อยลอยอยู่กลางบึง
ครั้นคนเอื้อมไม่ถึงมีฝูงผึ้งบินมา
อยากพักพิงบนหิ้งบูชา
เขาไม่ปรารถนาแล้วจะว่าเขาแกล้ง
โธ่ อยู่ไกลหนักหนา
บัวซ่อนหลบตาแอบแฝง
หากปล่อยทิ้งไว้พอใจแมลง
สิ้นกลิ่นสีโรยแรงแล้วคงเหี่ยวแห้งคาบึง
(ข้อมูลรวบรวมจากหนังสือรวมเพลงต่างๆ ของสุนทราภรณ์)