23 เม.ย. 2562 สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์ เสนอรายงานพิเศษ “Red or black? Experiencing Thailand's military drafting” บอกเล่าเรื่องราวการเกณฑ์ทหารในประเทศไทย โดยระบุว่า พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 (1954 Military Service Act) กำหนดให้ชายไทยอายุ 21 ปี ต้องเข้ามารายงานตัวเพื่อเกณฑ์ทหาร และหากไม่สมัครใจก็ต้องตัดสินด้วยการ “จับใบดำ - ใบแดง” ใบแดงคือต้องเป็นทหาร ส่วนใบดำนั้นได้รับการยกเว้น โดยธรรมเนียมนี้เกิดขึ้นในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งกองทัพต้องการกำลังพลราวปีละ 1 แสนคน
ณ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เจมส์ แคมป์เบล (James Campbell) หนุ่มลูกครึ่งไทย - อังกฤษ วัย 24 ปี บอกเล่ากับผู้สื่อข่าวว่า ย้อนไปเมื่อปี 2559 เขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมเทศกาลลุ้นระทึกครั้งนี้ และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า “กลัว” โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงพ่อแม่ที่แก่ชรา เช่นเดียวกับ ศรายุทธ ชุมชัย (Sarayut Chumchai) หนุ่มวัย 22 ปี กล่าวยอมรับว่าเครียดมากตอนจับสลาก แต่เมื่อพบว่าได้ใบดำก็รู้สึกว่าโชคดี อย่างไรก็ตาม เมื่อถามต่อไปว่าประเทศไทยยังควรมีการเกณฑ์ทหารหรือไม่ เขาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้
ถึงกระนั้น สำหรับบางคนก็ยินดีเข้าร่วม อาทิ เอก (Ek) หนุ่มวัย 26 ปี ปัจจุบันประกอบอาชีพช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ เล่าว่า เคยสมัครเข้าเป็นทหารสังกัดกองทัพเรือ เพราะขณะนั้นยังไม่มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว อย่างน้อยการเป็นทหารก็ยังมีเงินเดือน และแม้จะมีเพื่อนบางคนไม่ค่อยพอใจนักเพราะถูกส่งไปประจำการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 แต่สำหรับเขานั้นไม่มีปัญหาอะไร
รายงานของอัลจาซีรา กล่าวต่อไปว่า สืบเนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร กล่าวคือ มีทหารเกณฑ์ถูกทำร้ายร่างกายหรือบางครั้งก็ถึงขั้นเสียชีวิตทั้งจากเพื่อนทหารด้วยกันและจากผู้บังคับบัญชา ทำให้การเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อเดือน มี.ค. 2562 หลายพรรคการเมืองเสนอว่าควรยกเลิกการเกณฑ์ทหาร อาทิ พรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย ไม่เว้นแม้แต่พรรคเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่กล่าวในทางคล้ายๆ กัน
นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่ามีชายไทยบางส่วนพยายามติดสินบนเพื่อหนีการเกณฑ์ทหาร แม้ทางกองทัพจะประชาสัมพันธ์ในเชิงห้ามปรามอยู่เนืองๆ ก็ตามเพราะหากถูกจับได้จะมีโทษถึงจำคุก ขณะที่อีกไม่น้อยใช้วิธีเข้าเรียนหลักสูตรกำลังสำรอง (รด. หรือ นศท.) เป็นเวลา 3 ปีในชั้นมัธยมปลาย หรือผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีก็สมัครใจเพราะได้สิทธิ์ลดวันเป็นทหารจาก 2 ปีเหลือเพียง 6 เดือน
ทางด้าน จอห์น เดรเปอร์ (John Draper) ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น (Social Survey Centre at Khon Kaen University) มองว่า หลังสิ้นสุดสงครามเย็นประเทศไทยก็ไม่มีความจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารอีกต่อไป ดังนั้นระบบนี้ควรถูกยกเลิกเสียเพราะเป็นการสนับสนุนสังคมศักดินา เห็นได้จากกองทัพไทยมีอัตราส่วนนายทหารชั้นนายพลมากที่สุดหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
จอห์น เสนอแนะว่า รัฐบาลไทยควรเปลี่ยนระบบการเกณฑ์ทหารไปสู่โครงการพัฒนาชนบท เช่น งานก่อสร้างและบูรณะอาคารเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพราะจะสามารถช่วยเหลือคนยากจนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด นอกจากนี้เขาเชื่อว่าจะทำให้ประชากรของประเทศไทยมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของการรับใช้ชาติ และหลีกเลี่ยง “วัฒนธรรมแห่งการฆ่า” (culture of killing) โดยเฉพาะที่น่าเศร้าคือการฆ่าหรือทำร้ายร่างกายทหารเกณฑ์ หลายกรณีถูกนำไปเชื่อมโยงกับระบบวินัยและการลงโทษ
รายงานของอัลจาซีรา ทิ้งท้ายด้วยคำพูดของเจมส์ แคมป์เบล หนุ่มลูกครึ่งไทย - อังกฤษ วัย 24 ปี อีกครั้ง ว่าเขาเคยได้ยินเรื่องผิดๆ ในค่ายทหาร แต่หากเกิดขึ้นกับเขาเองจะไม่ยอมอย่างแน่นอน ทั้งนี้ในตอนแรกเขาตั้งใจจะสมัครเพราะมีวุฒิการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ผู้เป็นแม่บอกให้ “เป็นผู้ชาย” ด้วยการไปจับใบดำ - ใบแดง และดีใจมากเมื่อพบว่าสิ่งที่อยู่ในมือของเขาเป็นใบดำ อนึ่ง..กองทัพไทยเคยกล่าวว่าการเกณฑ์ทหารนั้นจำเป็นเพื่อปลูกฝังความมีวินัยและจงรักภักดีต่อ 3 สถาบันหลัก “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” และรัฐธรรมนูญไทยก็ระบุว่าเป็นหน้าที่
ขอบคุณเรื่องจาก : https://www.aljazeera.com/news/2019/04/red-black-experiencing-thailand-military-drafting-190417015605789.html
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี