8 ต.ค. 2563 เว็บไซต์ นสพ.South China Moring Post ของฮ่องกง เสนอรายงานพิเศษ Two worlds collide at a Bangkok shanty town hunkered in the shadow of glitzy malls, five-star hotels and condominiums ว่าด้วย “บ้านครัว (Baan Khrua)” ชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากย่านช็อปปิ้งสุดหรูอย่างสยามสแควร์ กับความพยายามของคนเล็กคนน้อยที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางการพัฒนาเมืองแบบทันสมัย
Manasnan Benjarongchinda หรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “ลุงอู๊ด (Uncle Aood)” หนุ่มใหญ่ชาวไทยเชื้อสายจีน เล่าว่า ตนใช้ชีวิตเกือบ 70 ปีอยู่กับกิจการทอผ้าไหมและย้อมสีผ้า โดยเริ่มฝึกหัดทำงานนี้ตั้งแต่อายุได้ 13 ปี ตนอาศัยในบ้านหลังเล็กๆ เก่าๆ ในตรอกแคบๆ คดเคี้ยว ตัวบ้านทำจากไม้อัดครึ่งปูน เป็นทั้งที่พักและโรงทอผ้าในที่เดียวกัน บ้านอยู่ติดกับคลองสาขาย่อยจากแม่น้ำเจ้าพระยา
คลองนี้ยังเป็นเส้นทางสัญจรของเรือหางยาวรับ-ส่งผู้โดยสาร ในอดีตผู้คนสามารถอาบน้ำและซักเสื้อผ้าในคลองได้เพราะน้ำนั้นยังสะอาด นอกจากนี้ยังมีสวนผลไม้เล็กๆ ปลูกมะพร้าวและชมพู่น้ำดอกไม้ แต่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอีกแล้ว สวนผลไม้กลายเป็นธนาคาร โรงแรมและคอนโดมิเนียมหรูหรา ขณะที่ตลาดเก่าตรงหัวมุมถนนถูกเปลี่ยนเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่
Siprapa Somprasong หญิงวัย 57 ปี อาชีพช่างเย็บซ่อมเสื้อผ้าและมีงานอดิเรกคือการให้อาหารแมวจรจัดบริเวณใกล้กับสถานที่ตั้งจักรเย็บผ้า เล่าว่า ที่นี่เคยเป็นเหมือนหมู่บ้าน แต่วันนี้มันแตกต่างไปจากเดิม แต่ถึงความเป็นชนบทจะหายไป สัตว์นักล่าอย่างงูเหลือมก็ยังคงรอคอยเหยื่อของมันอยู่ในท่อระบายน้ำ ครั้งหนึ่งตนเห็นมันเขมือบหนึ่งในเจ้าเหมียวที่เคยให้อาหารโดยที่ตนก็ช่วยอะไรแมวโชคร้ายตัวนั้นไม่ได้
รายงานข่าวกล่าวต่อไปว่า บ้านครัวหรือบ้านครัวเหนือ (Baan Khrua North) เป็นหนึ่งในจุดที่ผู้คนจะเห็นความแตกต่างกันสุดขั้วแม้จะอยู่ในเมืองเดียวกัน นั่นคือภาพชุมชนแออัดที่บ้านเรือนมีสภาพโกโรโกโสตัดกับภาพของตึกระฟ้าและศูนย์การค้าชั้นนำ รวมถึงย่านช็อปปิ้งอย่างสยามแควร์ แหล่งรวมของชาวเมืองที่มารับประทานอาหารรสเลิศ ซึ่งหลายคนครอบครองสินค้าราคาแพงระยับอย่างรถเบนซ์และเสื้อผ้าหลุยส์วิคตอง
Muearn Rungsawang อดีตหัวหน้าคนงานก่อสร้างที่เกษียณอายุจากการทำงาน อาศัยอยู่ในบ้านเพิงพักเล็กๆ ข้างสะพานขนาดถนน 4 เลนที่ทอดยาวข้ามคลอง กับภรรยาและลูกสาวบุญธรรมที่รับเลี้ยงไว้ตั้งแต่เธออายุได้ 12 ปี เล่าว่า ลูกบุญธรรมของตนมีอาการทางจิต เธอมีญาติจริงๆ มากมายแต่ไม่มีใครมาเหลียวแล และแม้ตนจะอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้า แต่ก็ไม่คิดจะเดินเข้าไปเพราะนั่นไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับตน
ปัจจุบันหนุ่มใหญ่รายนี้เปิดร้านของชำเล็กๆ ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มขนมขบเคี้ยวและบุหรี่ให้กับผู้สัญจรไป-มา แม้จะอยู่ข้างๆ โรงแรมหรูที่ค่าพักต่อคืนเท่ากับรายได้ของตนทั้งเดือน ถึงกระนั้น Muearn ก็บอกว่าตนมีความสุขดีหากเทียบกับเมื่อ 20 ปีก่อนที่มาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ เวลานั้นรอบๆ มีแต่ขยะเต็มไปหมด ตนต้องหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำทั้งวันทั้งคืน และแม้จะถูกมองว่าเป็นคนเร่ร่อนใช้ชีวิตในที่สาธารณะ แต่ตนก็ภูมิใจที่ทำมาหากินด้วยตนเอง ด้วยการเช่าพื้นที่เล็กๆ ของผู้หญิงที่อยู่บริเวณนั้นเป็นแผงขายอาหาร
ชุมชนบ้านครัวยังเป็นชุมชนเก่าแก่ในเชิงประวัติศาสตร์ ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 (Rama I) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (King Phra Phutthayotfa Chulalok) ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระราชทานที่ดินแถบนี้ให้กับชาวจาม (กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้นกำเนิดอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศกัมพูชาและเวียดนาม) ที่นับถือศาสนาอิสลาม ตอบแทนที่ร่วมเป็นทหารออกรบกับกองทัพพม่า (เมียนมา) ที่มารุกราน รวมถึงช่วยสยาม (ไทย) ขยายดินแดนไปถึงเขมร (กัมพูชา) เมื่อประมาณ 200 ปีก่อน
Arkom Inpankeaw ชายวัย 62 ปี ผู้นำชุมชนบ้านครัวเหนือที่มีสมาชิกราว 700 ครัวเรือน กล่าวว่า ย่า (หรือยาย) ของตนสามารถพูดภาษาเขมรได้ และตอนที่ตนยังเด็กก็มักจะได้ฟังเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งปัจจุบันหากใครได้ผ่านไปในย่านดังกล่าว ยังสามารถพบมัสยิดและกุโบร์ อันเป็นศาสนสถานและสถานที่ฝังศพของชาวมุสลิม นั่นหมายถึงลูกหลานชาวจามยังคงอยู่อาศัยในที่ดินสืบต่อจากบรรพชน
ชุมชนบ้านครัวในอดีตนั้นมีชื่อเสียงด้านการทอผ้าไหม ช่างทอผ้าหลายคนมีฐานะดี อาศัยอยู่ในบ้านไม้สักแบบดั้งเดิมที่มีเฉลียงโปร่งโล่งและมีสวนผัก ปัจจุบันเหลือบ้านลักษณะนี้เพียงไม่กี่หลังและหลายหลังเริ่มผุพัง คนที่นี่ยังรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ฟื้นฟูกิจการทอผ้าไหมในช่วงทศวรรษ 1950s (ปี 2493-2502) ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับเมื่อปี 2510 ที่ประเทศมาเลเซีย
Manasnan หรือลุงอู๊ด เล่าว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับชาวอเมริกันผู้นี้เป็นอย่างนี้ เพราะทุกๆ เช้าจะเห็นเขานั่งเรือไป-มาเพื่อตรวจดูผ้าที่สั่งให้ตนทอไว้ก่อนหน้ารวมถึงสั่งทอผ้าชุดใหม่ เมื่อ จิม ทอมป์สัน หายไป ตนและบรรดาช่างทอผ้าที่นี่จึงกังวลใจ ซึ่งหลังจากนั้นอุตสาหกรรมผ้าไหมของชุมชนก็เข้าสู่ยุคเสื่อมถอย เหลือไว้แต่เพียงความทรงจำ ดังที่ Manasnan ชี้ให้ดูรูปถ่ายของจิม ทอมป์สัน ในบ้านของตน ซึ่งถ่ายไว้เมื่อปี 2503
จากเจริญรุ่งเรืองสู่ยากจนเรื้อรัง Arkom เล่าต่อไปว่า ชุมชนบ้านครัวเผชิญกับภัยคุกคามจากยาเสพติด โดยเฉพาะในหมู่เด็กและเยาวชน พวกเขานิยมเสพแอมเฟตามีน หรือที่คนไทยเรียกว่า “ยาบ้า” ซึ่งมีราคาถูก ตนในฐานะผู้นำชุมชน พยายามจัดการแข่งขันกีฬาเพื่อหวังจะดึงเด็กและเยาวชนเหล่านี้ออกจากวงจรยาเสพติด เช่นเดียวกับ Jakkarin Sukumapai ชายวัย 36 ปี อาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เล่าว่า ตนอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ที่นี่สามารถพบเห็นคนมีอาการเมายาได้ตลอดเวลา นอกจากยาบ้าแล้วยังมีกัญชาและยาไอซ์
ภัยคุกคามประการต่อมาคือเหตุเพลิงไหม้เพราะบ้านเรือนคนที่นี่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ Jakkarin ระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยเกิดไฟไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งต้นเพลิงมาจากกระท่อมที่พักอาศัยของแรงงานชาวเมียนมา ไฟนั้นลามเผาผลาญบ้านเรือนรอบๆ ไปประมาณ 10 หลังคาเรือน หลังจากนั้น คนในชุมชนรวมถึงชาววินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รวมตัวกันเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวังอัคคีภัย มีการก่อสร้างเพิงพักขึ้นโดยภายในเป็นที่เก็บอุปกรณ์ดับเพลิง รวมถึงมีจักรยานสำหรับลาดตระเวนในยามค่ำคืน
อีกหนึ่งภัยคุกคามคือการไล่รื้อจากทางการเพราะต้องการนำพื้นที่ไปพัฒนาแบบสมัยใหม่ Arkom เล่าว่า ครั้งล่าสุดของความพยายามไล่ชาวบ้านเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อนและชาวบ้านก็ตอบโต้ด้วยการฉีดน้ำใส่ และคนเหล่านั้นก็ไม่กลับมาอีกเลยจนปัจจุบัน พร้อมกับบอกว่าชาวชุมชนไม่ต้องการไปไหน เพราะที่นี่คือบ้าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี