ย่างกุ้ง (เอพี/รอยเตอร์/บีบีซี นิวส์) - คณะกรรมการบริหารของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเมียนมาที่ถูกกองทัพก่อรัฐประหาร ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกควบคุมตัวไว้ ระบุการทำรัฐประหารเป็น “จุดด่างพร้อย” ในประวัติศาสตร์ของกองทัพ
พรรคเอ็นแอลดีออกแถลงการณ์ซึ่งแพร่ทางเฟซบุ๊ค เรียกร้องให้ปล่อยตัวนางซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และประธานาธิบดีวิน มินต์ พร้อมทั้งแกนนำของพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ แถลงการณ์ดังกล่าวยังเรียกร้องให้กองทัพยอมรับผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว ที่พรรคเอ็นแอลดีได้รับชัยชนะ และยอมให้รัฐสภาเปิดการประชุมตามที่กำหนดไว้ในสัปดาห์นี้ พร้อมกับชี้ว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นจุดด่างพร้อยบนประวัติศาสตร์ของรัฐและของกองทัพ
นางซู จี ซึ่งเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของเมียนมา ถูกกองทัพควบคุมตัวไว้เมื่อช่วงเช้าวันจันทร์ รวมถึงประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง และแกนนำคนอื่นๆ ของพรรคเอ็นแอลดีก็ถูกควบคุมตัวไว้เช่นกันขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นางซู จี ถูกควบคุมตัวไว้ที่ใดหลังจากกองทัพยึดอำนาจ แต่แหล่งข่าวในพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า พวกเขาเชื่อว่าเธอถูกกักบริเวณไว้ในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์ นอกจากนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีถูกควบคุมตัวไว้กี่คน แต่แหล่งข่าวของพรรคระบุว่า น่าจะมีประมาณ 25 คน และถูกกักตัวไว้ในหอพักในกรุงเนปิดอว์
ในช่วงเช้าวานนี้ การติดต่อทางโทรศัพท์และอินเตอร์เนตกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่ตลาดต่างๆ อยู่ในสภาพเงียบเหงา สนามบินในนครย่างกุ้งยังปิดบริการ ธนาคารพาณิชย์เปิดให้บริการได้ หลังจากเมื่อวานนี้เกิดปัญหาทางด้านการเชื่อมต่ออินเตอร์เนต และประชาชนรีบพากันออกไปถอนเงินสดและซื้อสินค้าจำเป็นมากักตุน
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐกล่าวในแถลงการณ์ประณามการก่อรัฐประหารในเมียนมา ที่กองทัพเข้ายึดอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลพลเรือน พร้อมทั้งกล่าวว่าการที่กองทัพควบคุมตัวนางซู จี เป็นการจู่โจมโดยตรงต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมของเมียนมา นายไบเดนยังกล่าวเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมมือแสดงจุดยืนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในการกดดันให้กองทัพเมียนมายอมวางอำนาจที่ไปช่วงชิงมา ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลที่ควบคุมตัวเอาไว้ เขากล่าวว่า สหรัฐได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาไปแล้วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากเมียนมามีความคืบหน้าในการเดินหน้าไปสู่แนวทางการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แต่การถอยหลังทางการเมืองในเมียนมาเช่นนี้ทำให้สหรัฐต้องทบทวนกฎหมายและอำนาจในการคว่ำบาตรในทันทีและจะตามมาด้วยการดำเนินการที่เหมาะสม
ด้านสหประชาชาติหวั่นเกรงว่ารัฐประหารในเมียนมา จะส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮีนจาราว 600,000 คน ที่ยังคงอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของเมียนมา ในจำนวนนี้มีประมาณ 120,000 คนที่ถูกจำกัดพื้นที่ให้อยู่แต่ภายในค่ายที่พัก พวกเขาไม่สามารถไปไหนมาได้อย่างเป็นอิสระและมีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการเข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐานและการศึกษา เขากล่าวว่า ขณะนี้สหประชาชาติกำลังเป็นกังวลอย่างยิ่งว่า การก่อรัฐประหารจะยิ่งทำให้สถานการณ์และสภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮีนจาเลวร้ายมากกว่านี้
ก่อนหน้านี้ กองทัพเมียนมาใช้กำลังเข้ากวาดล้างกลุ่มมุสลิมโรฮีนจาในรัฐยะไข่เมื่อปี 2560 ทำให้ชาวโรฮีนจามากกว่า 700,000 คนหนีภัยไปยังบังกลาเทศ และต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ สหประชาชาติและชาติตะวันตกกล่าวหาเมียนมาว่า กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา แต่เมียนมาปฏิเสธ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี