เวียดนาม ยกระดับคุมโควิดระบาดที่ รพ.ขนาดใหญ่ 2 แห่ง หลังจากพบการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนเข้าสู่ชุมชนกว่า 200 คน ด้านญี่ปุ่น ป่วยพุ่งทะลุ 7,000 คนครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่วนอินเดีย ยังหนักป่วย 4 แสนคนต่อวัน ตายมากกว่า 4 พันศพ ขณะที่ผู้ป่วยหนักกว่าแสนคนต้องสวมเครื่องช่วยหายใจ
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ว่า กระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม ได้ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมทางสังคม ตามโรงพยาบาลและสถานอนามัยทุกแห่งในประเทศ โดยในส่วนของบุคลากรการแพทย์ และผู้ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลทุกคน นอกจากจะต้องผ่านจุดคัดกรองอุณหภูมิทุกวันแล้ว ยังต้องกรอกเอกสารยืนยันตัวตนทุกครั้ง ขณะที่ผู้อยู่ในโรงพยาบาลทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทางเข้าและออกโรงพยาบาลให้มีทางเดียว และมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
อนึ่ง บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของเวียดนาม เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และส่วนใหญ่ได้ฉีดวัคซีนกันแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการยืนยันผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 78 คน แบ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 คน และติดเชื้อจากในประเทศ 65 คน โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่งในกรุงฮานอย คือโรงพยาบาลโรคติดต่อเขตร้อนแห่งชาติ และโรงพยาบาลโรคมะเร็งแห่งชาติ
ปัจจุบันเวียดนามมีผู้ป่วยสะสมจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างน้อย 3,245 คน โดยจำนวนดังกล่าวอย่างน้อย 1,826 คน เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศ และเสียชีวิตสะสมอย่างน้อย 35 ราย ซึ่งยังมีผู้ป่วยอีกอย่างน้อย 608 คน ยังต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หากนับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ที่เป็นวันซึ่งมีการยืนยันว่าแพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลโรคติดต่อเขตร้อนแห่งชาติ ในกรุงฮานอย ติดเชื้อและกลายเป็นคลัสเตอร์ขนาดใหญ่ ตามด้วยโรงพยาบาลโรคมะเร็งแห่งชาติ มีผู้ป่วยเชื่อมโยงรวมกันแล้ว 256 คน กระจายใน 13จังหวัดและในเขตเมืองใหญ่
ด้านเว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในญี่ปุ่น อยู่ที่ 7,246คน มากที่สุดนับจากวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ขณะที่การระบาดระลอกที่ 4 เริ่มลุกลามไปยังพื้นที่ซึ่งยังไม่อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือได้ผ่อนคลายมาตรการลงบางส่วน รัฐบาลประกาศเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม โดยขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 3 ที่กำหนดสิ้นสุดในวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31พฤษภาคม ซึ่งครอบคลุม 15 จังหวัดจากทั้งหมด 47จังหวัด เพราะมียอดผู้ติดเชื้อใหม่มากเป็นประวัติการณ์ เช่น ไอจิ ฟุกุโอกะ ฮอกไกโดที่มีผู้ติดเชื้อ 575, 519 และ 403 คนตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวญี่ปุ่นบางคนไม่คิดว่าการขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะได้ผล เพราะยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และพบผู้ติดเชื้อไวรัสปรับปรุงสายพันธุ์ ทั้งที่ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากผู้คนยังคงเดินทางและเคยชินกับสถานการณ์การระบาดจนไม่รู้สึกว่าเป็นวิกฤตอีกแล้ว
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ว่ากระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ 403,738 คน ในรอบวันที่ผ่านมา ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 22,296,414 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4,092 คน ทำให้สถิติผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในอินเดียเพิ่มเป็นอย่างน้อย 242,362 คน และมีผู้ติดเชื้อต้องรับการรักษาอย่างน้อย 3,736,648 คน
ทั้งนี้ รายงานของกระทรวงสาธารณสุขอินเดียระบุด้วยว่า ผู้ป่วยอย่างน้อย 902,291 คน ต้องการความช่วยเหลือเรื่องออกซิเจนอย่างเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 170,841 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยังปฏิเสธใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ทั้งประเทศ ทำให้หลายรัฐตัดสินใจบังคับใช้มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่ของตัวเอง โดยดินแดนสหภาพปุทุจเจรี และรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งมีเมืองเอกคือเมืองเจนไน ได้ประกาศล็อกดาวน์ แล้ว
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้บังคับใช้มาตรการรักษาระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยจนถึงวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ และรณรงค์ให้ประชาชนตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากสามีภรรยาคู่หนึ่งในนครซิดนีย์มีผลตรวจเป็นบวกเมื่อสัปดาห์ก่อน
นางแกลดีสเบเรจิกเลียน มุขมนตรีแห่งรัฐ ทวีตข้อความว่า ไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นวันที่ 3 แต่เนื่องจากยังไม่พบต้นตอการติดเชื้อล่าสุด จึงขยายมาตรการต่อไปอีก 1 สัปดาห์จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคมนี้เพื่อเป็นการป้องกันล่วงหน้า โดยประชาชนกว่า 5 ล้านทั้งในและรอบนครซิดนีย์จะต้องสวมหน้ากากอนามัยบนรถโดยสารสาธารณะ และสถานที่สาธารณะเกือบทั้งหมด ห้ามการรวมกลุ่มในบ้านเกิน 20 คน
ด้านนายกรัฐมนตรีสกอตต์มอร์ริสันของออสเตรเลียให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในเครือนิวส์คอร์ปที่เผยแพร่ในวันเดียวกันนี้ว่าออสเตรเลียยังไม่มีแนวโน้มจะเปิดประเทศในเร็วๆ นี้ ขณะนี้ชาวออสเตรเลียกำลังมีความพอใจที่ไม่พบการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวในประเทศ รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนในห้วงเวลานี้
วันเดียวกัน สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ประกาศบังคับใช้คำสั่งควบคุมการเดินทางระหว่างวันที่ 7-20พ.ค.หลังมีรายงานพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิดเพิ่มขึ้น แม้คำสั่งดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ทว่าก็มีการระบุห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร ทั้งยังไม่อนุญาตให้มีการรวมตัวของผู้คนและการจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆ พื้นที่หลายส่วนของรัฐสลังงอร์ที่ล้อมรอบเมืองหลวงแห่งนี้ก็ถูกประกาศล็อกดาวน์เช่นกัน เมื่อนับถึงวันเสาร์ (8 พ.ค.) มาเลเซียมีรายงานยอดผู้ป่วยโรคโควิดยืนยันผลทั้งสิ้น 436,944รายและผู้เสียชีวิต 1,657ราย
องค์การอนามัยโลกเตือนเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ยังมีสิบกว่าประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปแอฟริกาที่ยังรอคอยวัคซีนอยู่ ประเทศที่รั้งท้ายรายชื่อที่จะได้รับวัคซีนได้แก่ ชาด บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี เอริเทรีย และแทนซาเนีย ความล่าช้าและการขาดแคลนวัคซีนทำให้แอฟริกายิ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งทวีปซึ่งมีประชากรเกือบ 1,370 ล้านคน ได้รับวัคซีนเพียงร้อยละ 1 ของที่ฉีดกันไปแล้วทั่วโลก เกียน คานธี ผู้ประสานงานด้านการจัดสรรวัคซีนโครงการโคแวกซ์ขององค์การอนามัยโลกเตือนว่า ประเทศที่ยังไม่มีวัคซีนมีโอกาสที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ขอให้ประเทศร่ำรวยบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศเหล่านี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างเป็นทางการในทวีปนี้ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทวีปอื่น แต่เชื่อว่ามีตัวเลขที่ไม่ได้รับรายงานจำนวนมาก
แพทย์โรคติดเชื้อในชาด ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่อยู่ในแอฟริกากลางเผยว่า รู้สึกไม่เป็นธรรมและเศร้าใจ เพราะแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงติดเชื้อยังไม่ได้รับการฉีดเลยแม้แต่คนเดียว ชาดมีผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นผู้ลอบเข้ามาทางพรมแดนทางบกในช่วงที่ยังปิดท่าอากาศยานในเมืองหลวง แต่หลังจากที่เปิดท่าอากาศยาน ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 4,835 คน มีผู้เสียชีวิต 170 คน เอพีรายงานว่า ชาดมีโอกาสจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์ในเดือนหน้า หากมีตู้แช่เย็นเก็บวัคซีนที่ความเย็นระดับติดลบ ขณะที่อุณหภูมิประเทศเฉลี่ยสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับเฮติ อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในทะเลแคริบเบียนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว ทั้งที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนแอสตราเซนเนกาจากโครงการโคแวกซ์ 756,000 โดส เพราะรัฐบาลไม่มีตู้แช่เย็นเก็บวัคซีน กังวลเรื่องผลไม่พึงประสงค์ และต้องการวัคซีนแบบฉีดเข็มเดียวมากกว่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี